ชาวสวนลำพูนเฮ! ลำไย 'เบี้ยวเขียว' ราคาพุ่ง 160 บ./กก.

ชาวสวนลำพูนเฮ! ลำไย 'เบี้ยวเขียว' ราคาพุ่ง 160 บ./กก.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ชาวสวนลำไยลำพูนยิ้มรับ ยอดออเดอร์พันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูนพุ่งกิโลกรัมละ 160 บาท สูงกว่าลำไยทั่วไปเกือบ 8 เท่าตัว เหตุเป็นสินค้า GI คาดมีผลผลิตแค่ 3 พันกิโลกรัม 

ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีลงพื้นที่ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ตำบล ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูน ให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ด้วยกระบวนการปลูกปลอดสารเคมีได้มาตรฐานGAP พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวออกจำหน่ายตามออเดอร์ของลูกค้าทั่วประเทศกันอย่างคึกคัก สามารถทำราคาขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 160 บาท สูงกว่าลำไยสายพันธ์อื่นๆ เกือบ 8 เท่าตัว

หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูน วิชาญ จาระธรรม ระบุ ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูนได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในพื้นที่ 6 ตำบล คือ ตำบลหนองช้างคืน อุโมงค์ เหมืองง่า ต้นธง ริมปิง และประตูป่า ถือว่าเป็นสายพันธุ์ลำไยที่เก่าแก่ของจังหวัดลำพูนที่ปลูกกันมาแต่บรรพบุรษ ในปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เพิ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดในประเทศ โดยจะมีความพิเศษกว่าลำไยทั่วไปตรงที่ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตรขึ้นไป ลูกจะใหญ่แบนเบี้ยวเนื้อกรอบ สีขาวขุ่น รสชาติหวานไม่น้อยกว่า 16 องศาบริกซ์ 
     
ในช่วงนี้ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว โดยจะเน้นขายผ่านทางไปรษณีย์ไทยในการช่วยกระจายสินค้าให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย แต่ผลผลิตยังคงมีจำกัด เนื่องจากแต่ละแปลงนั้น จะต้องผ่านมาตรฐานของGAP และมีการตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์จากกรมวิชาการเกษตร จึงจะสามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้ ซึ่งตอนนี้ลูกค้ามีอยู่ทั่วประเทศ ที่ให้ความนิยมในการบริโภคผลไม้ประจำฤดูกาล แม้ว่าราคาจะสูงถึงราคากิโลกรัมละ 160 บาท แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะเป็นลำไยที่มีความอร่อย และรสชาติดี รวมถึงมีความปลอดภัยต่อการบริโภคด้วย 
      
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมักจะประสบกับภาวะผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐก็ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด และยังมีตลาดจีนเป็นลูกค้าหลักในการรองรับผลผลิต แต่มองว่า เกษตรกรยังมีทางเลือกในการปรับตัวเอง ทำอย่างไรให้ผลผลิตมีคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม และราคาดี เมื่อลงทุนปลูกลำไยแล้วต้องมีกำไร ไม่ใช่ขาดทุนอยู่ทุกปี ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรในจังหวัดลำพูนหลายรายได้ยกระดับการปลูกลำไยมากขึ้น และโดยเฉพาะสายพันธุ์เบี้ยวเขียวลำพูน โดยคาดว่าในปี 2565 น่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 10,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 3,000 กิโลกรัม