ทร.ลุยพัฒนา 500 ไร่ หนุนอุตฯ การบินอู่ตะเภา
อีอีซีดันพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบินATZ กว่า 500 ไร่ ตั้งเป้าดึงเอกชนลุยศูนย์ซ่อมอากาศยาน เล็งปรับไซต์พื้นที่ “การบินไทย” หลังแผนลงทุนยังไม่ชัดเจน คาดปลายปีนี้เริ่มติดเครื่องเชิญชวนนักลงทุน หวังรองรับอีก 2 ปี อุตสาหกรรมการบินฟื้น
การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินได้มีการลงนามร่วมลงทุนกับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ไปแล้ว ในขณะที่การพัฒนาส่วนอื่นเพื่อผลักดันเมืองการบินจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะใน พื้นที่อุสาหกรรมการบิน หรือ ATZ ที่จะทำให้สนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการบินได้มากขึ้น
รายงานข่าวจากกองทัพเรือ (ทร.) ระบุว่า ขณะนี้การพัฒนาในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนสนามบินอู่ตะเภายังมีความก้าวหน้า เอกชนผู้รับสัมปทานโครงการต่างๆ อาทิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังคงเริ่มดำเนินงานในส่วนที่สามารถทำได้ เช่น สำรวจพื้นที่โครงการ และออกแบบโครงการ
ขณะเดียวกันกองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังหารือในการพัฒนาโครงการอื่นเพื่อรองรับการลงทุนที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลลาย โดยส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา สกพอ.มีเป้าหมายดำเนินโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ ATZ บนพื้นที่ 500 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับโครงการ ATZ จะรองรับการลงทุนจากเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของอีอีซีเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน เบื้องต้น สกพอ.อยู่ระหว่างจัดทำแผน คาดว่าจะเริ่มทดสอบความสนใจของนักลงทุน และเชิญชวนนักลงทุนภายในเดือน ก.ย.นี้
"ขณะนี้แผนลงทุนในอีอีซีไม่ได้หยุดชะงัก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาในพื้นที่ใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน โดย สกพอ.ยังมีแผนจะปรับพื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทยให้เล็กลง เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยยังมีแผนลงทุนโครงการไม่ชัดเจน เพื่อวางแผนเพิ่มพื้นที่ให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานใน ATZ”
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้มีเอกชนสนใจสอบถามเกี่ยวกับการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานในพื้นที่ ATZ อย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นว่าภายหลังโควิด-19 คลี่คลายแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากช่วงปี 2563-2564 การเดินทางท่องเที่ยวชะลอตัว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียจะมีการเดินทางมากที่สุด ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด นำมาสู่การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานเพื่อรองรับ
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ประเมินว่า หาก สกพอ.เร่งผลักดัน ATZ โดยมีการสอบถามความสนใจของนักลงทุนและประกาศเชิญชวนภายในปีนี้ จะทำให้โครงการ ATZ มีการลงทุนและพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสอดคล้องไปกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีท่าทีจะคลี่คลายใน 2565 จากการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และคาดว่าการบินจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงปี 2566–2567
“โครงการ ATZ หากมีการพัฒนา คาดว่าจะเพิ่มอัตราการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง และส่งเสริมให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางด้านการบิน”
ทั้งนี้ความพร้อมของพื้นที่ฐานรากศูนย์ซ่อมอากาศยานที่กองทัพเรือรับผิดชอบในการดำเนินงาน ปัจจุบันกองทัพเรือได้ประกวดราคาจัดหาเอกชนเริ่มงานแล้ว รวม 4 งาน มูลค่ากว่า 1,890 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
1.การจ้างปรับถมดินและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่าโครงการ 660 ล้านบาท
2.การจ้างควบคุมงานถมดินและอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่าโครงการ 16.5 ล้านบาท
3.การจ้างปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่าโครงการ 1,180 ล้านบาท
4.การจ้างควบคุมงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่าโครงการ 29.6 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามแผนจะพัฒนาบนพื้นที่ราว 210 ไร่ โดยปัจจุบันการบินไทยยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายจะปรับการลงทุนให้สามารถรองรับซ่อมอากาศยานหลายรูปแบบ และยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการลงทุน โดยขณะนี้มี 3 ทางเลือก คือ
1.การบินไทยร่วมทุนกับแอร์บัส 2.การบินไทยลงทุนเองและใช้เทคโนโลยีของทางแอร์บัส 3.หาผู้ร่วมทุนใหม่
นอกจากนี้ การการพัฒนาสนามบินยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ จะเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง 3 รูปแบบ คือ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 2.ถนน 3.ทางเรือ โดยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาครอบคลุมบนพื้นที่ 6,500 ไร่ ให้สิทธิบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด 30 ปี ซึ่งจะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเพิ่มการใช้เชิงพาณิชย์ จากเดิมที่เน้นภารกิจด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
เชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง การบินไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ตามแผนลงทุนของการบินไทย โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น ระยะแรกช่วงปี 2565-2583 จะลงทุนประมาณ 6,400 ล้านบาท โดยการบินไทยลงทุนเอง 2,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์
ทั้งนี้ จะพัฒนาเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ 80-100 ลำ โดยตามแผนเดิมคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท