ซีอีโอบริษัทญี่ปุ่นเกือบ 40% มองทรัมป์ใน ‘แง่ลบ’ ต่อธุรกิจ จากผลสำรวจนิกเกอิ
ผลสำรวจนิกเกอิล่าสุดชี้ ผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นกว่า 40% เตรียมทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจในจีน เพื่อรับมือภาษีทรัมป์ อีกทั้งผู้บริหารฯ 38.9% ตอบว่า ทรัมป์ส่งผลกระทบในเชิงลบหรือค่อนข้างเป็นลบต่อธุรกิจญี่ปุ่น
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของเหล่า “ผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่น” ต่อว่าที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” จากสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียล่าสุดพบว่า กว่า 40% ของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นจะพิจารณาทบทวนกลยุทธ์การดำเนินงานในจีนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อรับมือนโยบายของทรัมป์ที่มีต่อรัฐบาลปักกิ่ง
ทั้งนี้ ทรัมป์ ซึ่งจะกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคม กล่าวในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนว่า ตั้งใจกำหนดภาษีเพิ่มเติมอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน และเคยแย้มว่าอาจเพิ่มอัตราภาษีให้สูงถึง 60%
ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่มีบริษัทดำเนินงานอยู่ในประเทศจีน 8.6% กล่าวว่าจะทบทวนกลยุทธ์ในประเทศจีน และอีก 32.4% กล่าวว่าจะพิจารณาการทบทวนกลยุทธ์ในจีน
สำหรับธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากได้ผลิตสินค้าในโรงงานที่ตั้งอยู่ในจีน เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นและการขึ้นภาษีตอบโต้กัน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูป สินค้าระหว่างประเทศ และวัตถุดิบ
Ricoh บริษัทข้ามชาติด้านการถ่ายภาพและอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น วางแผนที่จะย้ายการผลิตเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์สำนักงานอื่น ๆ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐจากจีนไปยัง “ไทย”
ด้านเหล่าผู้บริหารของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่มองว่า “ขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากจีน เราจะถูกบังคับให้ปรึกษาหารือกับลูกค้าของเรา รวมถึงการทบทวนระบบการผลิต การจัดหา และราคา”
ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังได้ขู่ที่จะกำหนดอัตราภาษี 25% กับเม็กซิโกและแคนาดา แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐก็ตาม นอกจากนี้ เขายังเสนอที่จะกำหนดภาษี 10% สำหรับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
ชิงโกะ ฮามาดะ ประธานและซีอีโอของบริษัทอาหารทะเล Nissui กล่าวว่า “ลัทธิชาตินิยมที่มากเกินไปจะไม่จบลงเพียงข้อตกลงง่าย ๆ แต่จะกระตุ้นให้เกิดพายุของการขึ้นภาษีตอบโต้”
นอกจากนี้ ยุโรปกำลังขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ผลิตในจีน โดยปักกิ่งก็กำลังหาทางลดผลกระทบด้วยการเข้าใกล้รัสเซียมากขึ้น
มิตซูโอะ โอยะ ประธานของบริษัท Toray Industries ผู้ผลิตวัสดุเคมีสังเคราะห์กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานของเราและดำเนินงานในลักษณะที่เตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน”
สำหรับคำถามผลกระทบของทรัมป์ที่จะมีต่อการดำเนินงานของบริษัท ผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่น 38.9% ตอบว่า มีผลกระทบในเชิงลบหรือค่อนข้างเป็นลบ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่า 37% จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2016 ก่อนเริ่มวาระแรกของทรัมป์ และสูงกว่า 36.4% ในเดือนมีนาคม 2017 หลังจากพิธีสาบานตนครั้งแรกของเขา และมีเพียง 17.6% เท่านั้นที่ตอบว่า ทรัมป์จะส่งผลในเชิงบวกหรือค่อนข้างเป็นบวกต่อธุรกิจของพวกเขา
ส่วนเรื่อง “ความกังวลที่ใหญ่ที่สุด” ภายใต้การดำรงตำแหน่งของทรัมป์ในวาระที่สอง “ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น” เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดที่ 68.3% ตามมาด้วยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น 43.4% และการกลับมาของภาวะเงินเฟ้อที่ 36.6%
“การเตรียมแผนสำรองอย่างแผน B และแผน C เป็นสิ่งที่จำเป็น” ทาเคชิ นิอินามิ ประธานและซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม Suntory Holdings กล่าว “ในด้านที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เราควรเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีความพร้อม เช่น เกาหลีใต้และอินเดีย เพื่อไม่ให้ต้องพึ่งพาสหรัฐเพียงอย่างเดียว”
ทั้งนี้ การสำรวจของสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย ดำเนินการระหว่างวันที่ 2-18 ธันวาคม 2024 โดยมีผู้นำบริษัท รวมถึงประธานบริษัทเข้าร่วมการสำรวจที่ตอบแบบสำรวจรวมทั้งหมด 145 บริษัท
อ้างอิง: nikkei