จีนออกอาวุธสู้ ‘ภาษีทรัมป์’ ที่อาจกลายเป็น 'ดาบสองคม’ ลดอำนาจจีนในเวทีโลก

จีนออกอาวุธสู้ ‘ภาษีทรัมป์’ ที่อาจกลายเป็น 'ดาบสองคม’ ลดอำนาจจีนในเวทีโลก

จีนออกอาวุธสู้ ‘สหรัฐ’ เมื่อทรัมป์ขู่ขึ้นภาษี ด้วยจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญ ผูกขาดตลาด ขายพันธบัตรสหรัฐ อาจกลาย ‘ดาบสองคม’ ทำให้สหรัฐลดพึ่งพาจีน และสั่นคลอนอำนาจจีนในเวทีโลก

เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานท่าทีของ "จีน" ที่แข็งกร้าวในการตอบโต้สหรัฐหลังจบการเลือกตั้ง “สหรัฐ” ด้วยอาวุธทางเศรษฐกิจหากเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ เช่น การจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญ หรือการลง      โทษบริษัทสหรัฐ ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่กลับมาทำร้ายจีนที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังตลาดตะวันตก

สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือ การที่จีนใช้มาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจจะยิ่งกระตุ้นให้สหรัฐ และประเทศพันธมิตรเร่งดำเนินการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาจีน ซึ่งจะนำไปสู่การแยกตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์ประเมินว่า แม้จีนจะมีอาวุธทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐได้ แต่การใช้กำลังเต็มที่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ในทางกลับกัน จีนอาจใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อบังคับให้มีการเจรจาสงบศึกกับโดนัลด์ ทรัมป์ หากเขาทำตามสัญญาที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60%


ย้อนไปในปี 2018 เมื่อทรัมป์เริ่มเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จีนก็ตอบสนองด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เช่น อาหาร สารเคมี และสิ่งทอ ครั้งนี้จีนมีเครื่องมือที่หลากหลาย และทรงพลังกว่าการตอบโต้แบบขึ้นภาษีตอบโต้ในครั้งก่อน ซึ่งคาดว่าจะสร้างผลกระทบที่รุนแรง และเฉพาะเจาะจงต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น

อาวุธจีนไร้ประสิทธิภาพ

ความตึงเครียดทางเทคโนโลยีระหว่างจีน และสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนธันวาคม เมื่อจีนประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นการตอบโต้มาตรการจำกัดการส่งออกชิปของสหรัฐ นอกจากนี้จีนยังขยายการควบคุมไปยังชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตโดรน  รวมทั้งดำเนินการสอบสวนการต่อต้านการผูกขาดต่อ Nvidia เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของสหรัฐ 

นอกจากมาตรการควบคุมการส่งออกแล้ว จีนยังเพิ่มความกดดันต่อบริษัทต่างชาติที่วิจารณ์นโยบายภายในประเทศ โดยจัดทำ “รายชื่อบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ” ซึ่งอาจเผชิญอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในจีน ตัวอย่างเช่น PVH ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein และ Tommy Hilfiger ถูกพิจารณาให้เข้าอยู่ในรายชื่อนี้ เนื่องจากมีรายงานว่าคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ฝ้ายจากซินเจียง แม้จีนจะปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานบังคับก็ตาม

 นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการเหล่านี้อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการตอบโต้สหรัฐ เนื่องจากสหรัฐเองก็ได้ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนลงแล้ว

'สหรัฐ' ย้ายออก-ลดพึ่งพาจีน

แม้จีนจะเป็นผู้ผลิต และกลั่นแร่ธาตุหายากรายใหญ่ของโลก แต่ก็ไม่ใช่ผู้ผูกขาดตลาดแต่เพียงผู้เดียว ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมา สหรัฐนำเข้าแกลเลียมดิบจากแคนาดามากกว่าจากจีน และเยอรมนีเป็นซัพพลายเออร์เจอร์เมเนียมที่ผ่านการแปรรูปรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแหล่งที่มาของแร่ธาตุสำคัญเหล่านี้ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ระบบขีปนาวุธ และพลังงานสะอาด

จีนสามารถครองตลาดแร่ธาตุสำคัญได้ส่วนหนึ่งเนื่องจากความสามารถในการจัดหาแร่ธาตุในราคาที่แข่งขันได้ ทำให้คู่แข่งรายอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การที่จีนใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุ อาจส่งผลให้ราคาของแร่ธาตุเหล่านี้สูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งอาจกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ หันมาลงทุนในการสำรวจ และผลิตแร่ธาตุมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาจีน

“แมทธิว เกิร์ตเคน” หัวหน้านักยุทธศาสตร์ภูมิรัฐศาสตร์แห่ง BCA Research ได้ให้ความเห็นว่า ยิ่งการเข้าถึงแร่ธาตุมีความยากลำบากมากขึ้นเท่าไร ประเทศต่างๆ ก็จะยิ่งต้องลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน และการผลิตทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของรัสเซียที่สามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้สำเร็จส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประเทศที่สามเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลางในการค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบบการค้าโลก และความยากลำบากในการควบคุมการค้าอย่างเข้มงวด  

เกิร์ตเคน มองว่า หากจีนตัดสินใจควบคุมการส่งออกแร่ธาตุไปยังสหรัฐอย่างเข้มงวด บริษัทสหรัฐก็อาจหันไปพึ่งพาประเทศที่สามในการจัดหาแร่ธาตุเหล่านี้ผ่านกระบวนการส่งออกซ้ำ ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางการค้าที่จีนตั้งขึ้นได้

การลงโทษจากจีนที่เคยสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อบริษัทสหรัฐ ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และการแข่งขันภายในประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทสหรัฐ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น การที่แบรนด์จีนเติบโตขึ้น และได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้บริษัทสหรัฐมีความสำคัญต่อตลาดจีนน้อยลง ส่งผลให้การลงโทษจากจีนมีผลกระทบน้อยลงตามไปด้วย

ในเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา General Motors ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความท้าทายที่รุนแรงในตลาดจีน โดยคาดการณ์ว่าจะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ความอ่อนแอของตลาดรถยนต์ในจีนบีบบังคับให้ GM ต้องปรับลดการดำเนินงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงงานหรือลดรุ่นรถยนต์ที่ผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน

การที่รัฐบาลจีนกดดันบริษัทสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจในจีนอาจกระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐ มีท่าทีที่เข้มงวดต่อจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการกระทำของจีนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจโลก ในทางกลับกัน การกระทำที่ก้าวร้าวของจีนอาจกลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทสหรัฐตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดจีน หรือชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศจีน ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของจีนเอง

เครก ซิงเกิลตัน นักวิจัยอาวุโสด้านจีนจากมูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมองว่า การที่จีนกดดันบริษัทสหรัฐ จะยิ่งเร่งให้เกิดกระบวนการที่บริษัทเหล่านี้หันไปกระจายความเสี่ยง และลดการพึ่งพาจีน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่จีนต้องการ กล่าวคือ แทนที่จะทำให้สหรัฐขึ้นอยู่กับจีนมากขึ้น การกระทำของจีนกลับผลักดันให้สหรัฐหันไปพึ่งพาประเทศอื่นมากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอิทธิพลของจีนในเวทีโลก

ปักกิ่งไม่ได้หมดทางเลือกในการตอบโต้สหรัฐ มาร์ติน ลิงจ์ ราสมุสเซน นักเศรษฐศาสตร์จาก Exante Data ชี้ให้เห็นว่า จีนสามารถใช้ความได้เปรียบในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีราคาถูก และเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน เช่น สกรู โบลต์ หรือสายชาร์จ เพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกันได้  

อาวุธทางการเงินของจีน

จีนสามารถใช้อาวุธทางการเงินที่ทรงพลังในการตอบโต้ โดยหนึ่งในนั้นคือ การขาย “พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ” ที่ถือครองอยู่จำนวนมหาศาลกว่า  760,000 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนตุลาคม ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้ถือพันธบัตรสหรัฐรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

แม้ว่าจีนจะตัดสินใจขายพันธบัตรสหรัฐ  ธนาคารกลางสหรัฐก็มีเครื่องมือในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ การซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกลับคืนมา ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2020 

อย่างไรก็ดี การขายพันธบัตรสหรัฐจะทำให้จีนมีเงินดอลลาร์จำนวนมาก ซึ่งจีนจะต้องนำเงินดอลลาร์เหล่านี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น หรืออาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินหยวน เพื่อผลักดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินหยวนอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของจีน และอาจทำให้สินค้าจีนมีราคาแพงขึ้นในตลาดโลก

สุดท้ายแล้วจีนต้องเดินหมากอย่างรอบคอบ โรเดียม กรุ๊ป ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่จีนต้องพิจารณา นั่นคือ การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ประเทศต่างๆ ก็คือ ลูกค้าที่สำคัญของจีน การใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงเกินไป อาจส่งผลให้ประเทศเหล่านี้หันไปหาแหล่งผลิตอื่นแทน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนโดยตรง 

 

 

อ้างอิง WSJ

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์