ขมิ้นชัน สมุนไพรตัวช่วย ยับยั้งการขยายตัวของไวรัส
ช่วงนี้สมุนไพรสามารถเป็นตัวช่วยในการต้านไวรัส"โควิด-19" ได้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงควรมีงานวิจัยรองรับ ล่าสุด"ขมิ้นชัน" จะเป็นตัวช่วยการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างไร
ในยุคที่ต้องการหาตัวช่วยให้การยับยั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด นอกจากฟ้าทะลายโจร(แม้งานวิจัยชิ้นหนึ่งจะถอนรายงานออก Preprint เนื่องจากความผิดพลาดในการวิเคราะห์ผล)แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการ เพื่อใช้ลดอาการระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อโควิด
ส่วนสมุนไพรอีกตัว ขมิ้นชัน ที่มีผลงานวิจัยทั้งแพทย์แผนไทยและแผนตะวันตกในการรักษาได้หลายโรค อาทิ อาการจุกแน่นท้อง ลดการอักเสบ ฯลฯ
และมีงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้ศึกษาสารเคอร์คิวมินอยด์จากขมิ้นชันพบว่า มีฤทธิ์สารลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ
งานวิจัยขมิ้นชัน
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เฟซบุ๊ก BIOTHAI รายงานข้อมูลเรื่อง ขมิ้นชันไว้ว่า
"นักวิจัย 3 คณะจาก 3 ทวีป ในประเทศบราซิล สเปน และอินเดีย ยืนยันตรงกันว่า "ขมิ้นชัน" พืชซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa Linn. คือหนึ่งในพืชที่มีศักยภาพมากที่สุดในการป้องกันและเยียวยาการระบาดใหญ่ของโรคไวรัสสำคัญ
Bruna A. C. Rattis Simone G. Ramos1 และ Mara R. N. Celes นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซาเปาโล และภาควิชาชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันโรคเขตร้อน ในประเทศบราซิล เผยแพร่บทความในวารสาร Frontier in Pharmacology เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ขมิ้นชันมีคุณสมบัติพร้อมทุกมิติเพื่อต่อกรกับโรคระบาดจากไวรัสร้ายแรงครั้งนี้ เช่น
-curcumin มีศักยภาพในการจับกับ S protein ของตัวรับ ACE2 เป็นการป้องกันไวรัสเข้าสู่ปอด
- ยับยั้งการทำงานของโปรตีนต่างๆซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการถอดรหัสและแพร่กระจายของไวรัสในเซลล์
-ป้องกันการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) การรวมตัวกันของเกล็ดเลือด (antiplatelet)
-ป้องกันการเกิดแผล (cytoprotective) ป้องกันการอักเสบของอวัยวะ (antiinflammatory)
นักวิจัยแนะนำให้อย่างน้อยที่สุดควรใช้ curcumin จากขมิ้นเป็นยาเสริมใหม่สำหรับการรักษาการระบาดของไวรัสใหม่นี้
เช่นเดียวกับทีมนักวิจัยจากอินเดียโดย Rajesh K. Thimmulappa และคณะอีก 6 คนจาก ภาควิชาชีวเคมี วิทยาลัยการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ชีวสารสนเทศ และศูนย์เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยี ในอินเดีย ตีพิมพ์บทความชื่อ Antiviral and immunomodulatory activity of curcumin: A case forprophylactic therapy for XXXXX-19 ที่ยืนยันกลไกของนักวิจัยจากบราซิล
และชี้ให้เห็นว่า การใช้ขมิ้นชันนั้น มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากเป็นพืชอาหารและเป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปีในเอเชีย การทดลองทางคลินิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 10 ปีล่าสุด เราสามารถกิน curcumin ได้มากถึง 8 กรัม/วัน โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพใดๆ
เช่นเดียวกับงานวิจัยในห้องปฏิบัติการล่าสุดโดย Carla Guijarro-Real และคณะจาก Instituto de Conservación และ Mejora de la Agrodiversidad Valenciana, Universitat Politècnica de València เมืองวาเลนเซีย และเพิ่งเผยแพร่ผลการทดลองดังกล่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
พวกเขาพบว่าเมื่อได้ทดลองขมิ้นชันเปรียบเทียบกับพืชและสมุนไพรอื่นอีก 14 ชนิดที่มีศักยภาพในการยับยั้งการทำงานของ SARS-CoV-2 3CLPro ปรากฎว่าขมิ้นในรูปสารสกัดรวมที่ไม่ใช่สารเดี่ยวสามารถยับยั้งการทำงานของ 3CLPro (ซึ่งจะมีผลในการยับยั้งการขยายแพร่ไวรัสในเซลล์) ได้สมบูรณ์แบบ ส่งผลให้กิจกรรมโปรตีเอสตกค้าง 0.0% ที่ ค่า IC50 เท่ากับ 15.74 g mL เหนือกว่าสมุนไพรอื่นๆทั้งหมดที่ทำการทดลอง
ล่าสุดบริษัท MGC Pharma บริษัทยาซึ่งดำเนินกิจการในยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอิสราเอล ได้ผ่านการทดลองขออนุญาตทำการทดลองยา CimetrA เพื่อรักษาโควิด
และเริ่มกระบวนการวิจัยในเฟส 3 แล้วที่ที่ศูนย์การแพทย์ Rambam ประเทศอิสราเอล โดยผลิตภัณฑ์ที่ดังกล่าวมีขมิ้นชัน โกฐจุฬาลัมพา และกำยาน เป็นองค์ประกอบสำคัญกำลังถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะออกสู่ตลาดภายในปี 2565 ที่จะถึงนี้
อย่าคิดว่ามีเพียงฟ้าทะลายโจร และกระชายเท่านั้น "ขมิ้นชัน" สำคัญกว่าที่หลายคนเข้าใจ"
ขมิ้นชัน ทางเลือกในการต้านไวรัส
ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรอีกตัว ที่มีผลงานวิจัยในการรักษาโรคได้หลากหลาย เป็นพืชที่ปลูกในภูมิอากาศร้อน มีแหล่งผลิตแถวๆ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา บังคลาเทศ จีน ไต้หวัน เปรู และอินโดนีเซีย
อินเดีย จัดเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก หากนับรวมผลผลิตที่ได้จากอินเดีย และบังคลาเทศแล้ว มีปริมาณผลผลิตรวมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตโลก ประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี และประชาชนชาวอินเดียบริโภคขมิ้นชันค่อนข้างสูง
สารสกัดที่ได้จากขมิ้นชัน ประกอบด้วยสารสองกลุ่มหลักคือ น้ำมันหอมระเหย (essential oil) และสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) สารเหล่านี้สามารถนำมาผลิตเป็นยารักษาโรค
สาร เคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) เป็นสารสีเหลืองส้ม แต่ละพื้นที่ที่ปลูกขมิ้นชันจะมีปริมาณสารเคอร์คิวมินอยด์ แตกต่างกัน พบว่าเหง้าสดมีปริมาณเคอร์คิวมินอยด์มากกว่าเหง้าแห้ง โดยเหง้าสดจะมีปริมาณ เคอร์คิวมินอยด์ประมาณ 7.94-15.32 เปอร์เซ็นต์ และเหง้าแห้งจะมีปริมาณเคอร์คิวมินอยด์ประมาณ 3.81-8.66 เปอร์เซ็นต์
เภสัชวิทยาของขมิ้นชันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่มากกว่า 6,000 เรื่อง ทั้งที่เป็นการศึกษา วิจัยในระดับพื้นฐาน เช่น การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดหยาบขมิ้นชัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activity) ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ (antimicrobial activity) ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (anti-cancer activity)
ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณในประเทศแถบทวีปเอเชีย ปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยม อาทิ กินขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้พอกหน้า และถูตัวเพื่อให้ผิวพรรณสวยงาม
และเมื่อมีการศึกษาวิจัยมากขึ้น พบว่า สารเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้าน จุลินทรีย์ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฯลฯ
...............
ที่มา : คุณประโยชน์และฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายของสมุนไพรขมิ้นชัน Usefulness and various biological activities of Curcuma longa L. โดย ชัชวาลย์ ช่างทำ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
อ่านเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่
‘วัคซีน’สัญชาติไทยแบรนด์ไหน กำลังจะเข้าเส้นชัย