'ครม.' ไฟเขียว 9.3 พันล้านบาท ซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส คาดเข้าไทยไตรมาส 4 ปีนี้
ครม.ไฟเขียวใช้เงินกู้ฯ 9.3 พันล้านบาทสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส พร้อมเห็นชอบให้ทำสัญญาเพิ่มอีก 10 ล้านโดสนำเข้าไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมเห็นชอบให้ทำสวอปวัคซีนยืมแอสตร้าเซเนก้าจากภูฎาน 1.5 แสนโดส
วันนี้ (17 ส.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน เห็นชอบให้ใช้เงินกู้ฯตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯซื้อวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 20,001,150 โดส เป็นเงินจำนวน 9,370 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าวัคซีนจำนวน 8,439 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการวงเงินประมาณ 933 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบการจัดสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดและไบออนเทค ทำให้การจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านโดส ซึ่งจะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้
นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่างๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน และขอให้มีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดีด้วยแผนที่ชัดเจน รวมถึงการให้ข้อมูลการจัดสรรแก่ประชาชนต่อไป
"ดังนั้น รวมแล้วจะมีวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามา 30 ล้านโดสในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้" นายอนุชากล่าว
การทำข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ทั้งชนิด mRNA ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ชนิดเชื้อตาย ของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ชนิดไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า
ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 และเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้
กลุ่มเป้าหมายที่ได้วัคซีนไฟเซอร์ ประกอบด้วย
1. บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม)
2. ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ที่มีสัญชาติไทย
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศ เน้นผู้สูงอายุและโรดเรื้อรัง
4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน/นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการลงนามในร่าง In-kind Donation Agreement ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี กับ กระทรวงสาธารณสุขของไทย ซึ่งเป็นการรับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จากเยอรมันของบริษัท Regeneron และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา และครม.ยังเห็นชอบในการลงนามในร่าง FORM OF AGREEMENT Tripartite Agreement ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นการรับมอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ของบริษัท AstraZeneca จำกัด และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา
ทั้งนี้ รัฐบาลภูฏานมีความประสงค์จะมอบวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จำนวน 130,000-150,000 โดส แก่ประเทศไทย ผลิตโดย Statens Serum Institute ประเทศสวีเดน บนพื้นฐานของการส่งมอบคืนในอนาคต ตามข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัท AstraZeneca จำกัด
ส่วนประเทศเยอรมันมีความประสงค์บริจาค Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จำนวน 1,000-2,000 ชุด โดยเป็นการบริจาคแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยประเทศไทยในฐานะผู้รับบริจาค ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนสำหรับยา แต่มีภาระในการรับมอบจาก Bundeswehrapotheke (Military pharmacy) Epe และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ