‘เปิดประเทศ’ ต้องเดินตามไทม์ไลน์
คลายล็อคเข้าสู่วันที่ 2 ประชาชนจับตามุ่งหน้าดูว่า เศรษฐกิจจะเดินหน้าไปต่อกันอย่างไร เพราะไม่ว่าอย่างไรโควิดก็มิแาจจากเราไปเร็วๆนี้ อย่างแน่นอน หรือเราควรต้องปรับทัศนคติสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เดินหน้าวางไทม์ไลน์ต่อไป แต่จะปรับอย่างไรให้เหมาะสม?
เข้าสู่วันที่ 2 ของการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจคือด้านเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นสำคัญ หวังมีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นอนาคตปากท้องของคนไทย โดยเฉพาะความสำเร็จของแผนการกระตุ้นท่องเที่ยวและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตัวแปรที่รัฐบาลหวังว่าจะนำไปสู่การฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันต่อรัฐสภาว่าจะเดินหน้าตามแผน 120 วัน ที่ได้ประกาศไว้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงความคืบหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับสมุยพลัส ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวผ่านโครงการดังกล่าวกว่า 2 หมื่นราย แม้เป็นตัวเลขที่ยังไม่มากแต่สร้างรายได้มากพอสมควร เนื่องจากเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีการใช้จ่าย 6-7 หมื่นบาทต่อทริป โดยไทม์ไลน์หลังจากนี้ จะเป็นโครงการระยะที่2 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป จะเปิดอีก 5 จังหวัด คือ กทม. ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และเชียงใหม่
สำหรับระยะที่3 จะเปิดวันที่ 15 ต.ค. เพิ่มเติมอีก 21จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภาคเหนือประกอบด้วย ลำพูน,แพร่,น่าน,แม่ฮ่องสอน,เชียงราย,สุโขทัย ภาคอีสานประกอบด้วย อุดรธานี ,หนองคาย, บึงกาฬ,อุบลราชธานี ภาคตะวันตก ได้แก่กาญจนบุรี ,ราชบุรี ภาคตะวันออกได้แก่จ.ระยอง,จันทบุรี,ตราด ภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ได้แก่ ระนอง,ตรัง,สตูล,สงขลา,นครศรีธรรมราช ก่อนเข้าสู่การเปิดประเทศในระยะที่4 แบบบับเบิ้ลประเทศเพื่อนบ้านและชายแดนภายในวันที่ 1-15 ม.ค.2565
เราเห็นว่าเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งไว้ในโครงการนำร่อง คือจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดประเทศต้นทางและปลายทาง ที่ต่างประสบปัญหาเดียวกัน ทำอย่างไรให้จำนวนนักท่องเที่ยวกับรายได้ คุ้มค่าประสบความสำเร็จกับต้นทุนประเทศในโครงการดังกล่าว นอกจากจังหวะในการเปิดแต่ละเฟสแล้ว จำเป็นต้องมีข้อมูลคาดการณ์ตัวเลขโควิดที่แม่นยำ อย่างไรก็ดี แม้ถึงที่สุดการแพร่ระบาดไม่ลดลงตามที่คาดหวัง เราเห็นว่าการเปิดประเทศจะต้องเดินหน้า แม้ว่าอนาคตจะเหลือพื้นที่เปิดประเทศที่จำกัดก็ตาม
ข้อเท็จจริงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การมุ่งต่อสู้กับโควิดเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล เราต้องปรับทัศนคติในการอยู่ร่วมกับโควิดในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศ นำไปสู่การเดินหน้าใช้ชีวิตและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ปัจจัยสำคัญคือสถานการณ์โควิดทั่วโลก แต่หัวใจของการเปิดประเทศที่เราสร้างได้คือการเร่งฉีดวัคซีนมากที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด เราจะเข้าสู่ประเทศวิถีใหม่ หากจะมีการกลายพันธุ์หรือโรคอุบัติใหม่ซ้ำเติม เป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ยังไงไทม์ไลน์ที่วางไว้ ก็ต้องเดินหน้า