สภาหอฯวาง 2 แนวทาง ดัน 'เกษตรมูลค่าสูง'

สภาหอฯวาง 2 แนวทาง ดัน 'เกษตรมูลค่าสูง'

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) หนึ่งในแนวทางสำคัญเร่งด่วนในการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ทางการเกษตร คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นให้ปรับปรุงวิธีการปลูก การแปรรูป การตลาด และมาตรฐาน ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชูศักดิ์  ชื่นประโยชน์ ระบุ ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทยประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรมีถึง 27 ล้านคน และมีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวถึง 71 ล้านไร่ หรือ 47.6% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด รองลงมาคือพื้นที่ปลูก ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และพืชอื่น ๆ

หนึ่งในแนวทางสำคัญเร่งด่วนในการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ทางการเกษตร คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นให้ปรับปรุงวิธีการปลูก การแปรรูป การตลาด และมาตรฐาน ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ผ่านรูปแบบ Model Success Case ภายใต้แนวคิด “เกษตรไทย เกษตรเท่ สู่การสร้างเกษตรมูลค่าสูง” ซึ่งมีตัวอย่างหลายโมเดล เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กาแฟ โกโก้ เมล่อนญี่ปุ่น ประมงน้ำจืดระบบ Biofloc

นอกจากนั้น ยังได้ร่วมทำงานอย่างจริงจังกับหน่วยงานภาครัฐ และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค สอดรับแนวนโยบาย Connect the Dots เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรมูลค่าต่ำและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปสู่การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ และประมงที่มีมูลค่าสูง ตรงกับความต้องการของตลาดและเหมาะสมกับพื้นที่

โดยกำหนดเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ได้ 10% ในกรอบระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2561-2580 ควบคู่ไปกับการยกระดับไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง เป็น
การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming และเกษตรแม่นยำ หรือ Precision Farming ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้จากพื้นที่ 10% สูงกว่าพื้นที่ที่เหลืออีก 90%

โดยวางแนวทางการทำงาน 2 ลักษณะ คือ 1.การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ระยะแรกได้เลือกจังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นจังหวัดต้นแบบการทำเกษตรมูลค่าสูง หรือ “ราชบุรีโมเดล” เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการเกษตร โดยเลือกสินค้าเกษตร 6 ชนิด คือ มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน โคนม สุกร กุ้งก้ามกราม และเกษตรปลอดภัย-เกษตรอินทรีย์ (พืชผัก) เป็นสินค้าเป้าหมายในการพัฒนา

2.การขับเคลื่อนรายสินค้า เป็นการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีอนาคตเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิต และมีผู้ประกอบการที่มีรูปแบบการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ สามารถเข้าไปช่วยพัฒนาต้นทางห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรนั้น ๆ ได้ ในระยะแรกได้เลือกสินค้าเกษตร 6 ชนิด คือ กาแฟจากน่าน จิ้งหรีดจากสุโขทัย ประมงน้ำจืดระบบ Biofloc จากสกลนคร โคเนื้อ จากสุรินทร์และศรีสะเกษ พืชผักปลอดภัย-พืชผักอินทรีย์จากนครปฐมและอำนาจเจริญ และผลไม้ จากจันทบุรี นครศรีธรรมราช และชุมพร