วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง
“ที่ใดมีสังคมที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” คำกล่าวนี้ถูกพิสูจน์ความเป็นจริงด้วยสังคมที่ดำรงอยู่ กล่าวได้ว่า “กฎหมาย” ไม่ได้มีเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นไปเพื่อ “แก้ปัญหา” อันตอบโจทย์การดำรงอยู่แห่งสังคม
ด้วยเหตุผลประการดังกล่าวนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อสังคมใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหามาอย่างช้านาน เหตุใดจึงไม่สามารถทำให้ปัญหาบางประการหมดไปจากสังคม? สำหรับ “สังคมไทย” จำเลยของคำถามดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้น “บทลงโทษ” ของกฎหมาย
“โทษ” หรือ “บทลงโทษ” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ทัณฑะ” หรือ “อาชญา” ซึ่งทั้งสองคำแสดงออกซึ่งการตอบสนองต่อการกระทำผิด ที่สะท้อนผ่าน “จารีตของชุมชน” สู่ “กระบวนการทางอาชญา” เช่นนี้
จึงหมายความว่า เรารู้จักโทษผ่านจารีตของชุมชนเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยพัฒนาไปสู่ความผิดที่ต้องใช้กระบวนการทางอาชญา ที่ต้องมีความชัดเจนผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมของปัจเจกชนอันเป็นคู่กรณีและสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“นักทัณฑวิทยา” แบ่งวัตถุประสงค์ของการลงโทษผู้กระทำความผิดไว้เป็น 5 ประการ คือ 1. เพื่อเป็นการตอบแทนหรือแก้แค้น (Retribution or Retaliation) 2. เพื่อเป็นการยับยั้งการกระทำความผิด (Deterrence) 3. เพื่อเป็นการกำจัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคม (Incapacitations)
4. เพื่อเป็นการป้องกันสังคมและป้องกันอาชญากรรม (Protection of Society and Prevention of Crime) และ 5. เพื่อเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด (Rehabilitation)
แต่ผลที่นักทัณฑวิทยาพบเจอก็คือ วัตถุประสงค์ของการลงโทษผู้กระทำความผิดในห้าประการนี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ด้วยเหตุผลเพียงประการหนึ่งประการใด อีกทั้งยังผลเป็นเด่นชัดว่า การใช้บทลงเพียงโทษที่รุนแรงไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาแห่งสังคม กลับกันอาจส่งปัญหาเป็นห่วงโซ่กันไปอย่างไม่รู้จบ
กฎเกณฑ์อันหมายถึงกฎหมายแห่งสังคมจึงไม่ควรศึกษาเพียงแค่โทษ หรือบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดควรจะได้รับเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องศึกษาถึง “อาชญากรรม” ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคม เพื่อหาแนวทางแห่งการบัญญัติกฎหมายจากความประพฤติที่ละเมิดต่อกฎหมายภายใต้พัฒนาการแห่งสังคมและการดำรงอยู่แห่งสังคมนั้น
กล่าวคือ บทลงโทษเป็นการควบคุมทางสังคมที่ไร้ความหมาย หากปราศจากความเข้าใจเหตุแห่งการก่อ “อาชญากรรม” ดังนั้น การศึกษา “ทัณฑวิทยา” จึงต้องควบคู่กับการศึกษา “อาชญาวิทยา” เสมอ ในลักษณะของการเป็นองค์ความรู้แบบ “สหวิทยาการ”
นักอาชญวิทยา เชื่อว่าทฤษฎีอันเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม คือ “ความโน้มเอียงของมนุษย์ที่โอนเอียงไปสู่ความสะดวกสบายเป็นปัจเจกนิยม” อันประกอบด้วย 1. ความสลับซับซ้อนด้านชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีความเป็นอยู่ 2. บรรทัดฐานและการควบคุมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3. การยึดมั่นในวัตถุนิยม
4. ความเสื่อมคลายในความสัมพันธ์ในแบบปฐมภูมิ 5. การรักพวกพ้องจนไม่สนใจกฎเกณฑ์ และ 6. การยึดมั่นในปัจเจกชนนิยม ซึ่งทั้งหกประการนี้ประกอบขึ้นจากเหตุผลทาง “ชีวภาพ” “จิตวิทยา” และ “สังคมวิทยา” ที่แตกต่างของผู้กระทำความผิด
จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ว่า หากสังคมต้องการลดอาชญากรรมสังคมนั้น ๆ จำต้องเข้าใจพฤติกรรมอันเป็นปัจเจกของเหตุแห่งการกระทำความผิดของสมาชิกในสังคมเสียก่อน เพื่อนำมาสร้างกฎเกณฑ์อันเป็นกรอบแห่งการอยู่ร่วมกันภายใต้เหตุผลด้านทัณฑวิทยาอันกำหนดไว้ซึ่ง “บทลงโทษ”
ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด ย่อมส่งผลต่อบทลงโทษที่ต้องจำแนกตามประเภทและผู้กระทำความผิดโดยหลัก “Individualization” ภายใต้ความเป็นวิชาการของ “พฤติกรรมศาสตร์” ส่งผลถึงหลักการของการลงโทษข้างต้นที่กล่าวไว้ว่า “เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการกระทำผิด ที่นำไปสู่ “กระบวนการทางอาชญา” หรือ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” นั่นเอง
การจำแนกย่อมต้องคำนึงถึง “อายุ เพศ ความรุนแรง และการกระทำความผิดซ้ำซาก” ผ่านทางการใช้สถาบันทางการลงโทษอย่าง “การคุมประพฤติ” “สถานพินิจ” “ทัณฑสถานหญิง” และ “เรือนจำ” เป็นเครื่องมือควบคุม คำถามต่อมาคือ เมื่อเราใช้ทฤษฎีทาง “ทัณฑวิทยา” และ“อาชญาวิทยา” อันเป็นสหวิทยาการควบคู่กันแล้วในการแก้ปัญหา แต่ทำไมปัญหาด้านอาชญกรรมถึงกลับไม่ลดลงหรือหมดไป?
คำตอบคือ ความโน้มเอียงต่อการกระทำความผิดอันเป็นปัจเจกนั้นมันเคลื่อนไหวได้ “ตลอดเวลา” ตามพลวัตรของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม ภาวะทางเศรษฐกิจ และความจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่นนี้ หากเราใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แต่กฎหมายกลับไม่เท่าทันต่อพัฒนาการที่เป็น “ปรากฏการณ์แห่งสังคม” ผลลัพธ์จึงไม่อาจเป็นไปตามที่ทฤษฎีทางอาชญวิทยาได้วางเป้าประสงค์ไว้
นักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา จึงสรุปเป็นสองประการแห่งปัญหาสังคม ประการแรก การลดอาชญากรรมผ่านการใช้กฎหมายเปรียบเสมือน “การควบคุมภายนอก” ที่มีองค์ประกอบแห่งลักษณะแห่งการกระทำความผิดและบทกำหนดโทษที่ชัดเจน
จึงต้องอาศัยความมีส่วนร่วมด้วยค่านิยมเคารพกฎหมาย (Participation) จากสมาชิกของสังคมเป็นหลัก ซึ่งหากกฎหมายที่มีขัดกับความต้องการของสังคม หรือกระบวนการที่นำมาใช้บิดเบี้ยวอันก่อให้เกิดความไม่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการควบคุมภายนอก เช่นนี้ กฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาแห่งสังคมนั้น ๆ ได้
อีกประการ เป็นการควบคุมที่แสดงผ่านลักษณะพิเศษของความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ คือ “การควบคุมภายใน” ด้วยการขัดเกลาอันถือเป็นหน้าที่ของโครงสร้างทางสังคม โดยใช้หน่วยทางสังคมต่าง ๆ สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรม (Self-Protection)
ซึ่งจะเริ่มต้นจากหน่วยที่เล็กที่สุดคือ “ครอบครัว” ผ่านการอบรมสั่งสอนสมาชิกให้รู้ซึ่งสิทธิเบื้องต้นของการอยู่ร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นในหน่วยโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป
หน่วยทาง “สถาบันการศึกษา” มีหน้าที่ในการเพิ่มองค์ความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Knowledge) ให้กับสมาชิกที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา อันเป็นกระบวนการต่อยอดจากความเข้าใจในสิทธิของตนจากโครงสร้างเชิงปฐมภูมิ
มากไปกว่านั้น หน่วยทาง “สื่อสาธารณะ” และ“องค์กรของรัฐ” ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอหรือถ่ายทอดแง่มุมแห่งการก่ออาชญากรรมในสังคม ต้องมีพันธกิจทำให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจรูปแบบและสถานการณ์อาชญากรรมที่พัฒนาไปตามการเติบโตอันสร้างความซับซ้อนให้เกิดขึ้นในสังคม (Awareness) ไปพร้อม ๆ กัน
จากพัฒนาการทาง “ทัณฑะ” สู่แนวคิดการลดอาชญากรรมอันเป็นกระบวนการทาง “อาชญาวิทยา” เห็นได้ว่าการจะลด หรือขจัดการกระทำผิดไปจากสังคมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การ “บัญญัติกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรง” สำคัญไปกว่านั้น คือ สังคมจำต้องเข้าใจเหตุอันเป็นสภาวะแวดล้อมกระตุ้นให้มีการกระทำความผิด (Determinism) ด้วย
มิฉะนั้นแล้ว “กฎหมาย” ที่บังคับโทษดังกล่าวก็จะเป็นเพียงมรดกทางสังคมที่ตกทอดกันไปรุ่นสู่รุ่น โดยไม่สามารถยับยั้งวัฏจักรของการกระทำความผิด ทั้งอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต.