Inclusive Language ภาษาเพื่อทุกคน | สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล
ภาษานับเป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (Equality, Diversity and Inclusion: EDI) คงไม่มีใครอยากได้ยินถ้อยคำที่ทำให้รู้สึกโดนเหยียดหยาม ต้อยต่ำ แบ่งแยก หรือมีอคติแฝงอยู่
หลายครั้งคนพูดไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่อาจด้วยความไม่รู้เลยทำให้เผลอสื่อสารภาษาที่ไปทำร้ายคนฟังโดยไม่รู้ตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว เราจึงควรระมัดระวังการใช้ภาษา พยายามพูดจาด้วยภาษาที่เรียกว่า Inclusive Language ที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องของ EDI ในองค์กร
- เลี่ยงคำว่า “คนปกติ”
อย่างแรกเลยคือพยายามเลี่ยงคำว่า “คนปกติ” ในบริบทเปรียบเทียบกับคนที่มีความหลากหลายกลุ่มต่างๆ เช่น เมื่อพูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ไม่ควรเรียกคนที่เป็น straight (ชอบเพศตรงข้าม) ว่าคนปกติ เพราะจะเหมือนกับเป็นการแปลว่าคนที่มีความหลากหลายนั้นไม่ใช่คนปกติ
ในต่างประเทศคำเรียกคนกลุ่มที่มีความหลากหลายจะค่อนข้างละเอียดอ่อน เช่น คำว่า “คนพิการ” (disabled people) จะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ผู้มีภาวะพิการ” (people with disabilities) เพราะเขามองว่าเราไม่ควรไประบุ (label) ว่าคนๆ นั้น “เป็น” อะไร
เขายังคงเป็น “people” คือมนุษย์คนหนึ่งที่ “มี” ภาวะพิการ การใช้คำว่า “มี” แทนคำว่า “เป็น” จะทำให้ลดการไปกระทบความเป็นตัวตน (identity) ของคนๆ นั้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างความรู้สึกเคารพและให้เกียรติแก่ผู้ที่มีความหลากหลาย
- เคารพในสรรพนาม
ในปัจจุบัน ความหลากหลายทางเพศทำให้คนเลือกที่จะใช้สรรพนาม (pronoun) ตามสิ่งที่ตรงกับตัวตนของตัวเอง โดยเฉพาะในต่างประเทศ เราจะเห็นคนแนะนำตัว ลงท้ายอีเมล หรือ ตั้งชื่อในการประชุมออนไลน์ด้วยชื่อตามด้วยสรรพนามที่ตนต้องการให้คนอื่นเรียกอยู่ในวงเล็บ เช่น Bob (he/him), Laura (she/her), Alex (they/them)
สิ่งที่น่าสนใจคือเราสามารถใช้คำว่า “they” เป็นสรรพนามแทนรูปเอกพจน์ได้ (ได้รับการยอมรับในการเขียนเชิงวิชาการแล้ว) โดยเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการใช้ “he” หรือ “she” นั่นเอง ดังนั้นในการใช้ภาษาเราควรเคารพในสรรพนามของคนๆ นั้น
- เลี่ยงภาษาแบ่งแยก Us vs Them
บางทีเราอาจเผลอพูดในลักษณะการแบ่งแยกสำหรับคนที่เหมือนกับเราและคนที่มีความแตกต่างหลากหลายจากเราโดยไม่รู้ตัว ในงานวิจัยโดย ดร. Anna Einarsdóttir และคณะจากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศสหราชอาณาจักรได้สร้างห้องวิดีโอบูธ (video booth) เล็กๆ เพื่อการถ่ายวิดีโอสั้นๆ ด้วยตนเอง
และให้คนเข้าไปพูดเกี่ยวกับเรื่องเครือข่าย LGBTQ ในองค์กรของตน โดยทุกคนได้รับการแจ้งล่วงหน้าว่าวิดีโอนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะ ผู้เข้าร่วมอัดวิดีโอสามารถเลือกกดอัดวิดีโอใหม่ หรือลบวิดีโอนั้นทิ้งได้ตามต้องการ
ผลวิจัยพบว่า แม้ผู้คนจะมีความระมัดระวังในภาษาที่ตนพูดต่อหน้ากล้องแล้ว แต่ก็ยังคงมีการใช้ภาษาที่สะท้อนถึงการแบ่งแยกตัวตนกลุ่ม “พวกเรา” กับ “พวกเขา” (Us vs Them) สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ อยู่บ้างโดยเฉพาะจากคนพูดที่เป็น straight
- เคารพในชื่อและไม่ล้อเล่นในความหลากหลายของคน
ชื่อนับเป็นการสร้างตัวตนที่สำคัญมากๆ ของบุคคล ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงชื่อนามสกุลตามบัตรประชาชนเสมอไป แต่หมายถึงชื่อที่คนๆ นั้นต้องการให้ผู้อื่นเรียก ซึ่งเราควรเรียกด้วยชื่อนั้น ไม่ควรไปตั้งชื่อเล่นอื่นๆ
โดยเฉพาะที่เป็นการจับรูปลักษณ์หรือความหลากหลายอื่นๆ ของบุคคล เช่น คำล้อว่า “น้องอ้วน”, “น้องดำ”, “น้องแต๋ว” ฯลฯ บางคนมองว่าการพูดเล่น ตลกโปกฮาเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายของบุคคลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ไม่เป็นไร” แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่จะเติบโตเป็นปัญหาใหญ่และบ่อนทำลายเรื่องของ EDI ในองค์กรได้อย่างมากเลยทีเดียว
การที่คนที่โดนล้อเล่นแล้วไม่ได้ตอบโต้กลับ ไม่ได้ร้องไห้ ไม่ได้หน้าบึ้ง หรือแม้แต่การที่คนๆ นั้นภายนอกดูยิ้มหรือหัวเราะ ก็ไม่ได้แปลว่าภายในเขาไม่ได้รู้สึกโดนดูหมิ่น เหยียดหยาม กีดกัน อึดอัด หรือเจ็บปวด ผู้พูดอาจไม่ทราบถึงผลกระทบต่อผู้ฟังที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจของเขา
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด เราควรหลีกเลี่ยงการล้อเล่นในประเด็นเรื่องความหลากหลายเหล่านี้ โดยสร้างเป็นนโยบายขององค์กรว่าการล้อเล่นเรื่องความหลากหลายของคนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่สามารถนำมาใช้เป็น “ข้ออ้าง” ของการ bully ใครในองค์กรได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างการใช้ภาษาที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (Equality, Diversity and Inclusion: EDI) ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกคน