เดี่ยว 13 สมาคมทนายฯตอบดราม่า วิจารณ์รัฐบาลลุงตู่ทำงานล้มเหลว ทำได้หรือไม่
ดราม่า "เดี่ยว 13" ของ โน้ส อุดม แต้พานิช ที่ได้นำมาลงให้ชมทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ล่าสุด สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แถลงฯ ประเด็นดังกล่าว ตอบดราม่า วิจารณ์รัฐบาลลุงตู่ทำงานล้มเหลว ทำได้หรือไม่นั้น
ประเด็น "เดี่ยว 13" ของ โน้ส อุดม แต้พานิช ที่ได้นำมาลงให้ชมทาง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์การทำงานของ รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างตรงไปตรงมาจนนำไปสู่ดราม่าที่อีกฝั่งที่สนับสนุนฝั่งรัฐบาลต่อพากันออกมาอ้างว่า การกระทำของ โน้ส อุดม ไร้เหตุผล ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน และผิดกฎหมาย นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เดี่ยว 13 โน้ส อุดม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 เปิดตัวสุดฮา หิวแสง แนะช่องทางดูออนไลน์
- "ประยุทธ์" ดู "เดี่ยว 13" แล้ว "อนุชา" ชี้ "โน้ส อุดม" วิจารณ์เกินเลย ไม่เหมาะสม
เรื่องนี้ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แถลงฯ ประเด็น "เดี่ยว 13" หรือการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 ของ โน้ส อุดม แต้พานิช โดยมีเนื้อหาดังนี้
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอแสดงความคิดเห็นว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้
ฉะนั้น การแสดงของคุณโน้ส อุดม แต้พานิช ดังกล่าว เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น การถ่ายทอดความรู้สึก และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว หาใช่การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการกล่าวหา ใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
อีกทั้ง รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา จึงย่อมมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบใด และสำคัญที่สุด รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง อันจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงแบบไม่จบสิ้น
กรณีดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์และอุทาหรณ์ ให้เห็นว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน เป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งประชาชนเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิได้สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตนั้นเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย (14 ตุลาคม 2565)