ราชกิจจาฯ ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของ กัญชา - กัญชง ฉบับที่ 2
"ราชกิจจานุเบกษา" ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของ "กัญชา" หรือ "กัญชง" (ฉบับที่ 2)
วันที่ 21 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 438) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของ กัญชา หรือ กัญชง (ฉบับที่ 2)
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (2) (4) (9) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 4 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน ดังนี้
(1) ตรวจพบสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก และสารแคนนาบิไดออล ไม่เกินร้อยละ 0.0028 โดยน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค หรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้ปรุงหรือผู้จำหน่ายอาหาร ดังนี้
(ก) ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง
(ข) ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
(ค) น้ำปลาผสมชนิดเหลวและแห้ง
(ง) น้ำเกลือปรุงอาหาร
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณเป็นปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ต้องไม่ทำให้มีสารเตตราไฮโดร แคนนาบินอล เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อ 50 กรัม และสารแคนนาบิไดออล ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อ 50 กรัม
(2) ตรวจพบสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และสารแคนนาบิไดออล ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน (1) ที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้ปรุงหรือผู้จำหน่ายอาหาร
(3) ตรวจพบสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มิใช่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้ปรุงหรือผู้จำหน่ายอาหาร ทั้งนี้ เมื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารตาม (1) และ (2) ต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลและสารแคนนาบิไดออล ไม่เกินที่กำหนดไว้ แล้วแต่กรณี
วิธีการตรวจวิเคราะห์สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือที่ใช้หลักการโครมาโตกราฟีแบบของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography, HPLC) หรือสูงกว่า
(4) สารพิษตกค้างให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาหารที่มีสารพิษตกค้าง
(5) สารปนเปื้อนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยมาตรฐานอาหาร
ที่มีสารปนเปื้อน
(6) จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการตรวจวิเคราะห์ของอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค
(7) คุณภาพหรือมาตรฐานสำหรับอาหารชนิดนั้นให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี"
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (6) และ (7) ของข้อ 9 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(6) ข้อความแสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลต่อหน่วยบรรจุ โดยแสดงข้อความ "มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (1) และแสดงข้อความ "มีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม
ต่อ........... (ความที่เว้นไว้ให้ระบุหน่วยบรรจุหรือภาชนะย่อยสุดที่หุ้มห่อหรือบรรจุอาหารเพื่อจำหน่าย เช่น ขวด กระป๋อง แผง ซอง)" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (2) และข้อความ "มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (3)
(7) ข้อจำกัดหรือข้อแนะนำสำหรับการบริโภค
(ก) ข้อความ "ไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง" และ "ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (1)
(ข) ข้อความแสดงปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (1)
(ค) ข้อความแสดงวิธีการใช้ ที่เข้าใจได้ง่ายและปฏิบัติได้ถูกต้อง สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (3)
(ง) ข้อความ "ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 ............ (ความที่เว้นไว้ให้ระบุหน่วยบรรจุหรือภาชนะย่อยสุดที่หุ้มห่อหรือบรรจุอาหารเพื่อจำหน่าย เช่น ขวด กระป๋อง แผง ซอง)" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (2) กรณีที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการเติมสารอาหาร สารสกัด หรือสารอื่น ที่ต้องจำกัดปริมาณการบริโภคต่อวันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
(จ) ข้อความ "ไม่ควรบริโภคเกินวันละ ............ (ความที่เว้นไว้ให้ระบุปริมาณที่แนะนำให้รับประทาน และระบุหน่วยบรรจุ เช่น เม็ด ช้อนชา หรือภาชนะย่อยสุดที่หุ้มห่อหรือบรรจุอาหารเพื่อจำหน่าย เช่น ขวด กระป๋อง แผง ซอง)" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ตามข้อ 4 (2) กรณีที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเติมสารอาหาร สารสกัด หรือสารอื่นที่จำกัดปริมาณการบริโภคต่อวันตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับเติมสารอาหาร สารสกัด หรือสารอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ หากคำนวณแล้วมีปริมาณมากกว่า 2 หน่วยบรรจุให้ปฏิบัติตาม (ง)
(ฉ) ข้อความ "ห้ามจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงตามข้อ 4 (3)"
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 11/1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
"ข้อ 11/1 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับอาหารตามข้อ 3 (4) และ (5) ที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น"
ข้อ 4 ให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ซึ่งได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศนี้ภายในสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อ่านประกาศราชกิจจนุเบกษาฉบับเต็มคลิกที่นี่