ผู้นำที่ชำนาญทั้งรุกและรับ | พสุ เดชะรินทร์
การเปลี่ยนแปลงของภาวะในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรียกว่า VUCA หรือ BANI ทำให้ความคาดหวังของผู้ถือหุ้น สังคม หรือกรรมการบริษัทที่มีต่อผู้นำเปลี่ยนไป
ผู้นำในปัจจุบันจะต้องทำให้บริษัทมีการเติบโต มีกำไร มีนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องทำให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บริหารต้นทุนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม สร้างและดูแลวัฒนธรรมในการทำงานที่ดี
ความคาดหวังข้างต้นก็นำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ สำหรับผู้นำ เนื่องจากการที่จะต้องทำให้ธุรกิจเติบโต แสวงหาธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งทำให้ธุรกิจมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย ไปพร้อมๆ กันให้ได้ดีนั้นไม่ง่าย วิธีคิด พฤติกรรม และวิธีการทำงานของการบรรลุเป้าหมายทั้งสองประการนั้นตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน
DNA ของผู้นำสำหรับแต่ละรูปแบบก็แตกต่างกันด้วย ในรูปแบบแรกต้องการผู้นำที่ช่างคิด มองภาพใหญ่ภาพรวม มุ่งเน้นการเติบโต นวัตกรรม แสวงหาโอกาสใหม่อยู่ตลอดเวลา
ส่วนรูปแบบที่สองนั้นผู้นำจะต้องเน้นการพัฒนา ปรับปรุง เน้นประสิทธิภาพ ดูแลในด้านต้นทุน ลงไปในรายละเอียดได้ พร้อมจะลุยในระดับปฏิบัติการได้
ในทางวิชาการนั้นจะเรียก ผู้นำที่เก่งทั้งสองรูปแบบ ว่า Ambidextrous Leaders ซึ่งมีพื้นฐานมาจากคำว่า Ambidexterity ถ้าแปลตรงๆ ก็คือผู้ที่มีความถนัดทั้งการใช้มือซ้ายและมือขวา
โดยคำดังกล่าวถูกนำมาเปรียบเทียบกับทั้งตัวผู้นำและการบริหารองค์กร ที่ถนัดทั้งการ Explore หรือค้นหา กล้าเสี่ยง ทดลอง และมุ่งเน้นนวัตกรรม และการ Exploit หรือการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพ และลงมือปฏิบัติจริง
ถ้าเปรียบเทียบกับการนักกีฬา Ambidextrous Leaders ก็เปรียบเสมือนนักกีฬาที่เก่งทั้งเกมรุกและรับ ผู้นำหรือนักกีฬาที่เก่งในด้านใดด้านหนึ่งนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ผู้นำในเชิงรับก็จะรอบคอบ ระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับตัวเลขในงบการเงิน
คอยระวังเรื่องค่าใช้จ่าย พยายามคิดเผื่อหลายๆ หนทางเพื่อความรอบคอบ ส่วนผู้นำในเชิงรุกก็จะคิดว่าจะเข้าไปซื้อกิจการใดดี พยายามแสวงหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน หาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของกิจการ
เหมือนนักกีฬาที่สมบูรณ์แบบที่เก่งทั้งในเกมรุกและเกมรับ ดังนั้น ผู้นำที่สมบูรณ์ คือผู้นำที่เก่งทั้งเชิงรุกและรับในตัวคนเดียว ซึ่งก็มีงานวิจัยที่ออกมาสนับสนุนแล้วว่า Ambidextrous Leaders นำไปสู่ผลการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น
มีงานศึกษาของสถาบัน IMD เกี่ยวกับ ผู้นำเชิงรุกและรับ ว่ามีคุณลักษณะในการตัดสินใจและทำงานอย่างไรใน 5 มิติ ประกอบไปด้วย
1.ด้านกลยุทธ์ จะสามารถเกาะกุมโอกาสในระยะสั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็สามารถที่จะยกเลิกกลยุทธ์เดิม เพื่อกลยุทธ์และธุรกิจใหม่เพื่อประโยชน์ในระยะยาว ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
2.ด้านการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนให้องค์กรมีรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นเลิศ แต่ก็สามารถที่ก้าวข้ามกรอบรูปแบบการดำเนินงานแบบเดิมเพื่อทดลองและแสวงหาแนวทางใหม่ได้
3.ด้านการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) สามารถทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านกระบวนการที่เป็นทางการ แต่ก็สามารถอาศัยเครือข่ายและความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเพื่อทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันได้
4.ด้านการทำงานร่วมกับคนในองค์กร เป็นผู้ที่ทั้งสามารถที่จะก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพ สั่งการ และบอกให้คนอื่นทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ในบางสถานการณ์ก็สามารถถอยลงมา ให้พนักงานได้ทำงานและตัดสินใจเอง โดยเป็นเพียงโค้ชที่อยู่เบื้องหลัง
5.ด้านการบริหารตนเอง เป็นผู้ที่กล้าที่จะตัดสินใจที่จะทดลองและทำสิ่งใหม่ ที่ท้าทายตนเองอย่างมาก แต่ก็สามารถที่จะทำให้ตนเองได้หยุดและอยู่นิ่งอย่างสงบได้เช่นกัน
จากการศึกษาของทาง IMD พบว่าไม่ง่ายเลยที่จะมีผู้นำที่ทั้งรุกและรับในทั้ง 5 ประการเบื้องต้น มีผู้นำเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถประสบความสำเร็จในทั้ง 5 มิติข้างต้นได้ แต่ก็พบว่ารูปแบบของผู้นำที่เก่งทั้งรุกและรับนั้นสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาได้
โดยต้องเริ่มต้นจากการรับรู้ ตระหนัก และยอมรับในวิธีการคิดและพฤติกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก่อน จากนั้นก็จะต้องอาศัยกระบวนการโค้ชในการช่วยพัฒนา