ก้าวต่อไปของ Policy Lab | ธราธร รัตนนฤมิตศร
Policy Lab เป็นกระบวนการ Co-creation ของตัวแทนของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในประเด็นนโยบายนั้นๆ มาสร้างนโยบายร่วมกัน เพื่อให้เกิดการมองให้ครบระบบ เข้าใจประชาชนที่หลากหลาย และร่วมกับสร้าง Solution ไปพร้อมกัน
ในโลกที่ทวีความซับซ้อน เลื่อนไหล และเหลื่อมทับกันในหลายมิติ กระบวนการนโยบายแบบเดิมได้เผชิญกับความท้าทายจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน
กระบวนการทำนโยบายสมัยใหม่ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความซับซ้อนใหม่นี้ เพราะเราไม่สามารถใช้กระบวนการแบบเส้นตรง หรือกระบวนทัศน์เชิงกลไกของศตวรรษที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป
ผู้ดำเนินนโยบายต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิธีคิด กระบวนการทำงานและวิธีปฏิบัติใหม่ เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในอดีต นโยบายมักสร้างขึ้นมาจากผู้รู้ เทคโนแครต หรือนักวิชาการที่แยกย่อยตามสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือถูกผลักดันจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจ เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น นโยบายเริ่มสร้างขึ้นจากการทำงานแบบสหวิทยาการมากขึ้น จากนั้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงได้พัฒนาขึ้นมาอีกขั้น ไปสู่กระบวนการห้องปฏิบัติการเชิงนโยบาย (Policy Lab)
Policy Lab เป็นกระบวนการ Co-creation ของตัวแทนของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในประเด็นนโยบายนั้นๆ มาสร้างนโยบายร่วมกัน เพื่อให้เกิดการมองให้ครบระบบ เข้าใจประชาชนที่หลากหลาย และร่วมกับสร้าง Solution ไปพร้อมกัน
ภายใต้กระบวนทัศน์ในการจัดทำนโยบายแบบ “Policy Lab” ซึ่งผู้เขียนและสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ดำเนินการกว่า 30 โครงการ พบว่าเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คำว่า “นโยบาย” เข้าใกล้สู่ประชาชนในแวดวงต่างๆ มากยิ่งขึ้น และสามารถนำเสนอนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล
ในปีที่ผ่านมา ก็ได้มีหลายหน่วยงานได้เริ่มนำกระบวนการนี้ไปดำเนินการกับโจทย์เชิงนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เขียนคิดว่าในอนาคต การทำนโยบายแบบ “Policy Lab” ยังมีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอย่างน้อย 7 ประการ ดังนี้
1.การกำหนดนโยบายตามหลักฐาน (Evidence-based policymaking) ผ่านการใช้ข้อมูลและการวิจัยเพื่อเป็นฐานความรู้เพื่อการตัดสินใจด้านนโยบายที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
Policy Lab จำเป็นต้องพัฒนาความแข็งแกร่งในด้านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวัดผลกระทบของนโยบาย
เพื่อเป็นปัจจัยนำเข้าทางวิชาการที่ช่วยสร้างความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในกระบวนการสร้างนโยบายผ่านแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมและป้องกันการเกิดนโยบายที่ฉาบฉวยหรือผิวเผิน อันเกิดจากความไม่มีพื้นฐานความรู้และข้อมูลเพียงพอของผู้มีส่วนร่วม
2.การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงลึก (Deep Stakeholder engagement) Policy lab จะต้องเปิดพื้นที่ที่กว้างขึ้นไปอีก ให้โอกาสกับผู้ไม่มีเสียงในสังคมไปจนถึงสิ่งต่างๆ ที่ส่งเสียงไม่ได้ เช่น ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้สะท้อนเสียงออกมาเพื่อให้เกิดการรับฟังอย่างเป็นองค์รวมและการมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายอย่างเป็นระบบ
3.ธรรมาภิบาลใหม่ในโลกที่ซับซ้อน หลายระดับและมีพลวัต (Dynamics and Multi-level Poly-centric governance) กระบวนการกำหนดนโยบายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระดับใดระดับหนึ่ง หรือที่ศูนย์กลางอีกต่อไป แต่มักมีลักษณะข้ามพรมทั้งในเชิงพื้นที่และสาขาวิชา
ดังนั้น การเปิดพื้นที่ การสร้างความเชื่อใจ ความเข้าใจ การเคารพในความแตกต่าง ความสามารถในการทำงานในพหุวัฒนธรรม และการให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายจะช่วยสร้างธรรมาภิบาลใหม่ในการดำเนินนโยบายในโลกยุคต่อไปได้ดีขึ้น
4.แนวทางเชิงระบบ (Systemic approach) Policy lab จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกันของนโยบายต่างๆ และวิธีการที่นโยบายมีปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนการมองภาพรวมของปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหานโยบาย รวมถึงการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและผลกระทบทางอ้อมเพื่อเตรียมการรับมือหรือวางกลไกไว้ล่วงหน้า
5.การเข้าใจเชิงลึกของพฤติกรรมมนุษย์ (Behavioral insights) Policy lab ต้องมีกระบวนการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เชิงลึกที่ลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการเข้าใจมนุษย์ผ่านวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยา
6.ความสอดคล้องกันของนโยบาย (Policy coherence) นโยบายทุกเรื่องทุกประเด็นควรมีความสอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ผลของนโยบายมีการหักร้าง หรือไปคนละทิศละทาง ภาครัฐจะต้องมุ่งไปสู่แนวทางการทำงานแบบองค์รวมของรัฐบาล (Whole-of-government approach)
7.การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล (Technological and data Driven Policy) การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายให้มากขึ้น เพื่อสามารถเข้าใจความซับซ้อนของประเด็นปัญหา สถานการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้าง ระบบและกระบวนทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนาคตเต็มไปด้วยความท้าทายและภัยคุกคาม แต่อนาคตก็เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย เทคโนโลยีใหม่ แนวคิดใหม่และการตื่นตัวของผู้คน ได้ปลอดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ที่จะทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้น
ผู้เขียนเชื่อว่า Policy Lab จะยังคงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกฝ่าย ในการเข้ามาร่วมกันสร้างนโยบายที่ดีร่วมกัน และวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่มีใครถูกกีดกันออกจากกระบวนการพัฒนานโยบายอีกต่อไป