สะพานพระราม8 ใครดูแล? ย้อนจุดเริ่มต้นดราม่าร้อนโซเชียล ประวัติการก่อตั้ง

สะพานพระราม8 ใครดูแล? ย้อนจุดเริ่มต้นดราม่าร้อนโซเชียล ประวัติการก่อตั้ง

ดราม่าสะพานพระราม 8 จากกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติยิงเลเซอร์หาเสียงจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลจนแฮชแท็ก สะพานพระราม8 ขึ้นมาติดท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์

ประเด็นดราม่า สะพานพระราม 8 จากกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิงเลเซอร์หาเสียงจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล โดยเฉพาะป้ายกฎหมายเลือกตั้งซึ่ง กกต.กำหนดขนาดป้ายใหญ่ที่สุดต้องไม่เกิน 1.30 x 2.45 เมตร เรื่องนี้มีการพูดถึงอย่างดุเดือดจนแฮชแท็กสะพานพระราม8 ขึ้นมาติดท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์

(อ่านแฮชแท็ก #สะพานพระราม8)

เรื่องนี้ต่อมา พรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาชี้แจงประเด็นยิงเลเซอร์ข้อความเชิญชวนให้เลือกหมายเลขของพรรคบนเสาสะพานพระราม 8 พรรคฯไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบว่า นางสาวทิพานัน ศิริชนะ ได้ขออนุญาตต่อปลัดกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการด้วยจดหมายส่วนตัว โดยไม่ได้หารือหรือแจ้งให้พรรคฯทราบหรือขออนุญาตผู้บริหารพรรคแต่อย่างใด พร้อมได้ตำหนิและทำหนังสือตักเตือนพร้อมทั้งสั่งการไปยัง นางสาวทิพานัน ให้หยุดดำเนินการดังกล่าวโดยทันที

ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงประเด็น ดราม่าสะพานพระราม 8 ว่า ถ้ามีการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่แล้วก็ไม่ผิด การโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดกับระเบียบการเลือกตั้ง โดยตัวระเบียบเป็นแนวทางปฏิบัติ

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว่า กรุงเทพมหานครไม่มีนโยบายให้ฉายภาพบนอาคารหรือสะพาน เนื่องจากอยู่นอกเขตของการหาเสียง เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนจะผิดกฎหมายหรือไม่ กรุงเทพมหานครจะเสนอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขอย้ำว่ากรุงเทพมหานครไม่มีจุดประสงค์ให้ใช้เสาสะพานพระราม 8 หาเสียง ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเป็นบทเรียนให้เราละเอียดมากขึ้น ยืนยันว่าไม่มีการลำเอียง หรือเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือพรรคการเมืองใด

ย้อนประวัติ ทำความรู้จักสะพานพระราม 8

สะพานพระราม 8 อยู่ในในความดูแลของ กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนา ในปัจจุบัน) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

การก่อตั้ง

สะพานพระราม 8 เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งที่เสด็จทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาการจราจรของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนสุดท้ายของโครงข่ายจตุรทิศ ตะวันตก-ตะวันออก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธน อีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง

โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7.00 น. ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน

ข้อมูลจำเพาะ/ลักษณะโดยทั่วไป

สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร สูงเท่าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และความลาดชันไม่เกิน 3% เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตร มีรูปแบบโดดเด่นสวยงามเพราะได้ออกแบบเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร ซึ่งหมายความว่ามีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ ช่วยป้องกันน้ำท่วมและระบบนิเวศวิทยาในน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งกระบวนพยุหยาตราชลมารค

การรับน้ำหนักของสะพาน ได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี เคเบิลแต่ละเส้นประกอบด้วยสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้น เมื่อเกิดปัญหากับเคเบิล สามารถขึงหรือหย่อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเหมือนสะพานพระราม 9 เนื่องจากเคเบิลแต่ละเส้นใช้สลิง ภายในซึ่งเป็นขดลวดใหญ่ทำให้ดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมยากกว่า อีกทั้งสายเคเบิลของสะพานพระราม 8 ยังมีสีเหลืองทอง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อสะท้อนแสงจะส่องประกายสวยงาม โดยเฉพาะยามค่ำคืน

ด้านมาตรฐานความปลอดภัยได้ทดสอบแรงดึงในลวดสลิง 1 ล้านครั้ง โดยใช้แรงดึงปกติ 10 ตัน ไม่มีปัญหา และต้องใช้แรงดึงถึง 27 ตัน ลวดสลิงถึงขาดแต่ก็แค่ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ได้มีการทดสอบแรงลม แรงสั่นสะเทือน ทิศทางลม รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น

สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ยาวติดอันดับ 5 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนีซึ่งติดอันดับถึง 3 สะพาน และประเทศเนปาล โดยนับจากความยาวช่วงของสะพาน ส่วนสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงตัวแรกแต่เป็นแบบสมมาตร เพราะมี 2 เสา ถือว่าอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก โดยนับความยาวช่วงของสะพานได้ 450 เมตร

ความพิเศษ

- สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว 3 ระนาบที่ยาวที่สุดในโลก กล่าวคือ ขึงด้วยเคเบิลระนาบคู่บริเวณตัวสะพาน (Main Bridge) จำนวน 28 คู่ และขึงด้วยเคเบิลระนาบเดี่ยวช่วงหลังสะพาน (Back Span) จำนวน 28 เคเบิล สะพานมีความยาวทั้งสิ้น 475 เมตร โดยมีช่วงตัวสะพานยาว 300 เมตร (ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลกในสะพานที่มีลักษณะนี้) และช่วงหลังสะพานยาว 175 เมตร เปรียบเทียบกับสะพาน สะพานโนวีโมสต์ ข้ามแม่น้ำดานูบในประเทศสโลวาเกีย ช่วงกลางสะพานยาว 303 เมตร และความยาวทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 430.8 เมตร

- มีเสาขนาดใหญ่เพื่อรับสายเคเบิลเพียงเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และไม่มีตอม่อกลางน้ำที่จะกีดขวางทางไหลของน้ำและบดบังความสง่างามของอาคารราชการ และกลุ่มโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

- ผ่านการทดสอบที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยเป็นสะพานที่ผ่านการทดสอบอุโมงค์ลมที่ห้องทดลองของบริษัท Rowan Williams Davies & Irwin Inc. (RWDI) ที่เมืองเกลฟ์ (Guelph) ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นห้องทดลองของการทดสอบแบบจำลองของสะพานพระราม 8 ในอุโมงค์ลม ทำให้มั่นใจว่าโครงสร้างสะพานมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถทนแรงลมสูงสุดได้ 60 เมตรต่อวินาที (216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

 

ข้อมูลประกอบจาก 

wikipedia.org/wiki/สะพานพระราม_8