กรรมการบริษัทกับการทุจริต | พสุ เดชะรินทร์
เมื่อมีข่าวการทุจริตของบริษัทซึ่งนำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ พนักงาน และสังคมโดยรวม คำถามหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ คณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนผู้ถือหุ้น ที่เข้าไปกำกับดูแลบริษัทปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้อย่างไร?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีกรอบ หลักการ เกณฑ์ รวมทั้งหลักการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่ชัดเจน
คณะกรรมการบริษัทถูกเลือกโดยผู้ถือหุ้นให้เข้าไปเป็นตัวแทนในการกำกับดูแลบริษัทและการทำงานของผู้บริหาร เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ
ดังนั้น บทบาทของคณะกรรมการบริษัทจะเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัท การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล การประเมินและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง การบริหารความเสี่ยง ด้านการเงินและผลประกอบการ การตัดสินใจที่สำคัญ รวมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้วย
ในไทยนั้นเมื่อเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียน ก็จะมีการเชิญชวนและส่งเสริมให้เข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นกรรมการที่ดี ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย หรือ Thai IOD หลักสูตรต่างๆ นั้นก็จะเน้นย้ำทั้งในหลักการ ตัวอย่าง และกรณีศึกษาของการปฏิบัติหน้าที่กรรมการที่ดี
อย่างไรก็ดี คำถามคือในเมื่อมีหลักการ แนวทางที่ชัดเจนของการเป็นกรรมการที่ดี รวมทั้งกรรมการส่วนใหญ่ก็จะได้รับการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นกรรมการที่ดี เหตุใดยังมีเหตุการณ์ของเหตุทุจริตในอยู่ ทั้งที่เกิดขึ้นจากตัวกรรมการเอง หรือภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการ?
นอกจากเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ศีลธรรมและจริยธรรมของกรรมการแต่ละคนแล้ว จากงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการบริษัทและการทุจริตจำนวนมาก พบว่ามีปัจจัยอีกหลายประการที่ส่งผลต่อโอกาสในการเกิดทุจริตในบริษัท และการตรวจพบการทุจริตอย่างรวดเร็ว อาทิเช่น
1. จำนวนกรรมการอิสระ กรรมการอิสระเป็นกรรมการจากภายนอกบริษัทที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งบริหาร เป็นอิสระจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ที่มีอิสระในการตัดสินใจ บริษัทที่มีกรรมการอิสระมาก จะทั้งสามารถป้องกัน และตรวจพบเจอการทุจริตภายในบริษัทได้ดีขึ้น
2. ความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัท โดยการมีกรรมการที่หลากหลายนั้น ทำให้มีมุมมอง ความคิด ที่หลากหลาย และไม่เกิดภาวะที่ทุกคนคิดตามกันไปหมด ความหลากหลายนั้นครอบคลุมทั้งในเรื่องเพศและทักษะ ความเชี่ยวชาญ บริษัทที่มีกรรมการเป็นสุภาพสตรีจะมีโอกาสเกิดทุจริตน้อยกว่า
ขณะเดียวกันทักษะและความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการยังต้องมีความหลากหลายด้วย ทั้งทางด้านการเงิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นกรรมการอิสระ) ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่อยู่ ในด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย และในด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้มีระบบในการควบคุมภายใน การประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจน
3. จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท บริษัทที่คณะกรรมการประชุมบ่อย กรรมการเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และกรรมการมีส่วนร่วมในการประชุม ก็จะมีโอกาสพบกับการทุจริตที่น้อย เนื่องจากมีโอกาสที่จะเข้าไปกำกับ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารได้มากขึ้น
4. ในบริษัทที่ประกอบด้วยคณะกรรมการตรวจสอบที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีระบบการควบคุมภายในที่ดี และกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและติดตามระบบการควบคุมภายใน ก็จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทุจริต
จากผลการวิจัยจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันและตรวจพบการทุจริตภายในบริษัท แต่ไม่ใช่เพียงแค่การมีคณะกรรมการ หรือตัวกรรมการมีความรู้หรือได้รับการอบรมมา หรือเป็นกรรมการที่ซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความถูกต้องเท่านั้น แต่ลักษณะ องค์ประกอบ และคุณลักษณะของคณะกรรมการบริษัทล้วนแล้วแต่ส่งผล
อย่างไรก็ดีใช่ว่าบริษัทที่คณะกรรมการ มีองค์ประกอบและคุณลักษณะตามแนวทางข้างต้นจะปราศจากการทุจริต (เนื่องจากสุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณธรรม ศีลธรรมของแต่ละคน) เพียงแต่โอกาสในการเกิดจะน้อยลง หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสามารถตรวจพบได้โดยเร็ว ซึ่งจะไม่นำไปสู่ความเสียหายเหมือนเหตุการณ์ที่เป็นอยู่