น้ำป่า 'เทือกเขาภูพาน' ทะลักนครพนม ท่วมนาข้าวเกือบพันไร่ หลังฝนตก 3 คืนซ้อน
น้ำป่าเทือกเขาภูพานทะลักท่วมนครพนม นาข้าวเกือบพันไร่จมบาดาล หลังฝนตกหนัก 3 คืนซ้อน ขณะที่ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง เริ่มระบายช้า หวั่นท่วมซ้ำรอยปี 61
วันนี้ (1 ส.ค. 66) ที่ จ.นครพนม จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังปานกลาง พาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ภาคอีสานตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน เกษตรกรควรระวังความเสียหาย ที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร และสัตว์เลี้ยง
สำหรับสถานการณ์ฝนตก ในพื้นที่ จ.นครพนม ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย สะสมสูงเกือบ 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ธาตุพนม , อ.นาแก มีปริมาณน้ำฝนสูงประมาณ 80 - 90 มิลลิเมตร บวกกับเป็นพื้นที่ติดกับ เทือกเขาภูพานน้อย และติดกับลำน้ำสาขาสำคัญของ แม่น้ำโขง คือ ลำน้ำบัง , ลำน้ำก่ำ ทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำป่า ที่ไหลลงจากเทือกเขาภูพานน้อย จนล้นทะลักลำน้ำสาขา หนักสุดคือพื้นที่ ต.ฝั่งแดง , ต.นาหนาด อ.ธาตุพนม รวมถึงพื้นที่ ต.พุ่มแก อ.นาแก บางส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่า ทะลักล้นลำห้วยกุดโดน เอ่อเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ที่เพิ่งปักดำเสร็จใหม่ ๆ คาดคะเนว่า มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเกือบ 1,000 ไร่ หากยังมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ระดับน้ำไม่มีท่าทีจะลดลง
อีกประมาณ 1 สัปดาห์ คาดว่า จะทำให้นาข้าวได้รับเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากน้ำจากลำน้ำสาขาสายหลัก เริ่มระบายลงแม่น้ำโขงช้า อีกทั้งปริมาณแม่น้ำโขง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 6.30 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน (31 ก.ค.) ถึง 39 เซนติเมตร เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากระดับน้ำโขง เพิ่มถึงจุดวิกฤต อยู่ที่ประมาณ 12 เมตร ยิ่งจะส่งผลกระทบมากขึ้น เพราะลำน้ำสาขา ไม่สามารถไหลระบายลงแม่น้ำโขงได้ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เบื้องต้น ทาง จ.นครพนม ได้ประสานพื้นที่อำเภอชายแดน ที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง รวมถึงติดกับเทือกเขาอื่น ๆ เช่น อ.บ้านแพง , อ.ท่าอุเทน , อ.เมืองฯ , อ.ธาตุพนม , อ.นาแก บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังต่อเนื่อง และวางแผนเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์การเกษตร ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะหากมีฝนตกหนัก น้ำป่าทะลัก เกรงจะซ้ำรอยปี 61 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ พืชผลทางการเกษตร และบ้านเรือนราษฎรเสียหายทั้ง 12 อำเภอ
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ถือว่ามีปริมาณฝนตกหนักสูงสุดในรอบปี และเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา น้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกัน น้ำที่เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ก็เป็นโอกาสทองของชาวบ้านบางส่วน ที่ชำนาญการจับปลา ต่างพากันนำอุปกรณ์จับปลา ยกยอ หรือชาวอีสานเรียกว่า "สะดุ้ง" ออกมาจับปลานำไปขาย สร้างรายได้เสริม และนำไปเป็นเมนูอาหารเลี้ยงครอบครัว ลดค่าใช้จ่าย เพราะปลาที่จับได้ เป็นปลาธรรมชาติ เนื้อนุ่มหวานและไม่คาว