กรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศ เกาะติดสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน วันที่ 26 - 29 ก.ย. 66 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกมากบางแห่ง พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างประณีต
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 8 เรื่องหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศลาวขณะที่ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ส่งผลทำให้ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 26 - 29 กันยายน 2566
โดยกรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำและบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในแต่ละช่วงเวลา ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามข้อสั่งการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ย่อมจะส่งผลดีให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองสำหรับใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และพืชยืนต้น
สิ่งสำคัญ กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้มีสภาพแข็งแรง พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้จากหน่วยงานราชการ หรือติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน /โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460