งานท่วมหัวแต่เอาตัวรอดได้ | บวร ปภัสราทร
มีเรื่องหนึ่งที่ลูกน้องไม่ชอบ แต่ลูกพี่ในวงการบูชางานหนักชอบเป็นพิเศษ คือ งานท่วมหัว ลูกพี่กลุ่มนี้ชอบมอบหมายงานสารพัดที่จำเป็นบ้าง ไม่จำเป็นบ้าง เพียงเพื่อให้เป็นการช่วยยืนยันภาพลักษณ์การทำงานหนักของตนเอง จะได้มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปตรวจงานได้เพิ่มขึ้น
การงานที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเลยปรากฏขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือการงานที่ไม่จำเป็นเหล่านี้มักจะเป็นงานที่มอบหมายให้กับลูกน้อง แทนที่ลูกพี่จะทำเอง คนที่งานท่วมหัวตัวจริงจึงไม่ใช่ลูกพี่ แต่เป็นลูกน้องที่โชคร้ายที่มีลูกพี่ที่บูชางานหนักเป็นสรณะ
แม้จะไม่มีใครชอบที่ต้องทำงานในสภาพงานท่วมหัว แต่หลีกหนีไม่ได้ในสภาพที่ลูกพี่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนมีงานเต็มมือ สิ่งที่ตามมาในสภาพการทำงานท่วมหัวคือ ทำงานด้วยความเครียด กังวลว่างานเดิมก็ยังไม่เสร็จ งานใหม่ก็มาจากลูกพี่อีกแล้ว
เก็บงานหนึ่งได้ไม่ทันไร งานใหม่สามสี่งานก็ตามมาอีก กลับถึงบ้านแต่เดิมก็หนีงานจากคอมพิวเตอร์ในสำนักงานมาได้ แต่วันนี้ยุคคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้คอมพิวเตอร์ที่สำนักงานตามมาถึงบ้านได้อีก
แต่เดิมนั้นเคยใช้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะที่สำนักงาน กลับบ้านโทรศัพท์ไม่ได้ตามกลับบ้าน วันนี้มีแอปซอฟต์โฟนติดตั้งอยู่ในสมาร์ตโฟน ที่ทำให้โทรศัพท์ที่สำนักงานตามกลับมาที่บ้านได้อีก อยู่บ้านก็เลยยังต้องทำงานอยู่อีก งานตามมาท่วมหัวถึงบ้านในวันนี้ เพราะมีสารพัดเทคโนโลยีเป็นช่องทางนำพาสารพัดการงานตามตัวไปไหนต่อไหนได้
ใครที่ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ระวังไว้ด้วยว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะพาการงานที่เกินกำลังตามติดตัวมาด้วย จึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับบริบทการงานของตนเอง เลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่ช่วยให้การงานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
อย่าเลือกรับเทคโนโลยีไปตามกระแส เห็นใครเขามีอะไรก็อยากมีตามนั้น โดยไม่ตระหนักว่ามีเทคโนโลยีนั้นแล้วอาจทำให้งานท่วมหัวทั้งวันทั้งคืนได้
ในบรรดาที่งานลูกพี่ในลัทธิบูชางานหนัก มอบหมายลงมาให้ลูกน้องนั้น อย่าเอามากองรวมกันแล้วหยิบไปทำทีละงานสองงาน แต่ให้ทำรายการของงานทั้งหมดที่ได้รับมอบหมายมานั้น โดยจำแนกออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มงานที่รีบด่วนและมีความสำคัญ ทำเสร็จแล้วเห็นผลชัดเจนว่ามีอะไรที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นบ้าง งานเหล่านี้แหละที่ควรลงมือทำในทันที อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะทำเสร็จแล้วเห็นประโยชน์แน่ๆ
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มงานที่รีบร้อนให้ทำ แต่ทำเสร็จแล้วไม่เห็นชัดๆ ว่ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง ทำงานย่อมมีผลงาน แต่ผลงานนั้นบอกไม่ได้ว่าทำเสร็จแล้วมีอะไรดีขึ้นบ้าง งานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นงานประดับบารมีลูกพี่ มีไว้แสดงให้เห็นว่างานท่วมหัว ดังนั้น จึงมักไม่ใช่งานยากเย็นอะไร ใครๆ ก็ทำได้หากมีเวลาที่จะทำ งานกลุ่มนี้ถ้าปล่อยต่อให้ใครที่ยังพอว่างอยู่บ้างทำแทนได้ ก็ส่งต่อไปเถอะ
กลุ่มที่สามเป็นงานที่ทำเสร็จแล้วได้ประโยชน์อะไรบางอย่างแน่ๆ แต่ทำช้าทำเร็วผลดีไม่แตกต่างกันมากนัก ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือเราถึงจะทำสำเร็จได้ ก็ให้จัดทำกำหนดการไว้ว่าวันไหน เวลาไหน จะว่างพอที่จะทำงานนั้นได้ แต่ถ้าพอมีคนมีฝีมือที่เอาไปทำแทนได้ ก็ส่งต่อไปได้เลย
กลุ่มที่สี่ คืองานที่ทำเสร็จแล้วไม่ได้อะไรที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาสักอย่าง เป็นงานที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าจะทำในวันนี้ หรือทำในอีกสามสิบสี่สิบวันข้างหน้า งานกลุ่มนี้แม้แต่คนสั่งงานเองก็มักไม่รู้ว่าให้ทำไปเพื่ออะไร แค่อยากมีไว้เสริมภาพลักษณ์งานยุ่งเท่านั้น งานกลุ่มนี้ทิ้งไปได้เลย ยิ่งถ้าไม่เคยถูกทวงถามจากคนสั่งงานเลย ยิ่งมั่นใจได้ว่า ถ้าทิ้งงานไร้ผลผลิตเหล่านี้ไปแล้ว จะไม่มีใครมาทวงถามแน่ๆ
อยากหลุดพ้นจากวัฏจักรงานท่วมหัว มีหลักการเบื้องต้น คืออย่าทำทุกงานที่ขวางหน้า ให้เลือกทำแต่งานที่ทำแล้วได้ประโยชน์จริงๆ เท่านั้น
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]