อื้อฉาว หอบเงินกฐิน 7 แสนหนี ล่าเจ้าอาวาสระดับเจ้าคณะ วัดดังสุพรรณบุรี
แจ้งความเอาผิดพระ เจ้าอาวาสระดับเจ้าคณะ วัดดังเมืองสุพรรณบุรี หอบเงินกฐินกว่า 7 แสนหนี แถมชาวบ้านกว่า 30 ราย ให้ยืมเงินบำรุงวัดอีก 4 ล้านบาท
จากกรณีเจ้าหน้าที่การเงินของวัดแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุพรรณบุรี ว่าเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ที่วัดแห่งหนึ่งได้มีการทอดกฐินสามัคคี ได้ยอดเงินจำนวน 717,186.75 บาท
ต่อมา เจ้าอาวาสวัดและยังเป็นเจ้าคณะตำบล ได้นำเงินไปฝากธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาสุพรรณบุรี โดยปกติต้องนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของวัด ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 17 พ.ย. 2566 ได้ตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของวัด
โดยนำสมุดไปปรับดูยอดเงิน ปรากฏว่าไม่มีเงินกฐินเข้าบัญชีวัดแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าอาวาสดังกล่าวได้ จึงเชื่อว่าเงินกฐินของวัดอยู่ที่เจ้าอาวาส จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายจิตรติ รามเนตร รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พร้อมด้วยนางสาวพัสวี บุญสิทธิ์ ปลัดอำเภอ ร่วมประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีติดตามเงินทำบุญทอดกฐินสามัคคีของวัดดังกล่าว
โดยมีเจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นประธานการประชุม มีคณะสงฆ์ของวัดที่เกิดเหตุ นายทนงศักดิ์ นิลวัฒน์ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ต.ท. บุญนำ โสมอินทร์ สว.สส. สภ.เมืองสุพรรณบุรี นางสาวฉวีวรรณ ศรีสมพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ เข้าประชุมกว่าประมาณ 50 คน
สำหรับประเด็นที่ประชุมได้มีการหารือกัน อาทิ การแต่งตั้งเจ้าอาวาส และหรือผู้รักษาการ รวมถึงเจ้าคณะตำบลฯ พร้อมกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาเงินบริจาคของวัด ตามระเบียบปฏิบัติต่อไป ในส่วนของเงินที่ได้รับความเสียหาย
มีผู้ถูกกล่าวหารายเดียว คือ เจ้าอาวาสวัดดังกล่าว แยกเป็นสองส่วน คือเงินทำบุญทอดกฐิน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566 จำนวน 717,186.75 บาท บาท ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุพรรณบุรี พร้อมอายัดบัญชีเบื้องต้นแล้ว
โดยจากการตรวจสอบบัญชีของวัด ซึ่งเป็นบัญชี รวม 2 บัญชี ได้แก่ธนาคาร สาขา ถนนพระพันวษา และ สาขาโรบินสัน เงินทั้งหมดได้ถูกถอนจากบัญชี และไม่มียอดเงินคงเหลือแต่อย่างใด พนักงานสอบสวน จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ในส่วนที่มีการกล่าวอ้างโดยประชาชนกว่า 30 ราย ว่าได้ให้กู้ยืมเงินสำหรับการทำนุบำรุงรักษาวัด รวมจำนวนประมาณ 4,000,000 บาท แก่เจ้าอาวาสวัดนั้น สรุปได้ ดังนี้
1.ให้เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลในการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
2.มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพระเลขาฯ ดำเนินการรับแจ้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย โดยทำบัญชีระบุรายชื่อ ที่อยู่ และจำนวนเงินที่ได้ให้กู้ยืม พร้อมพยานหลักฐานการกู้ยืม (ถ้ามี) โดยได้นัดหมายประชุมติดตามกันอีกครั้ง ในวันที่ 30 พ.ย.2566 เวลา 13.30 น. ที่วัดดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุชาวบ้านยังลังเลว่าจะแจ้งความหรือไม่ จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายวัน และตรวจสอบเงินในบัญชีวัดไม่มีแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าเจ้าอาวาสดังกล่าวหนีไปแล้วแน่ๆ จึงเข้าแจ้งความ ฐานเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติมิชอบมีโทษหนัก เพราะเป็นทั้งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบล