ศาลยุติธรรม แจงยิบ ข้อมูลคดี-ผลประกันตัว 'เสี่ยแป้ง' ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ
'ศาลยุติธรรม' แจงยิบ ข้อมูลคดี-ผลประกันตัว 'เสี่ยแป้ง นาโหนด' และ 'จรวด' หลังเจ้าตัวอัดคลิปร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ
วันที่ 1 ธ.ค. 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีปรากฏข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับการรายงานผลคดีของ นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ 'เสี่ยแป้ง นาโหนด' และมีการปล่อยคลิปโดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกันตัวคดีในศาล ว่า
จากการตรวจสอบข้อมูลคดี และผลคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของนายเชาวลิต หรือ 'เสี่ยแป้ง' (จำเลย) ในศาลจังหวัดพัทลุง และศาลอุทธรณ์ภาค 9 นั้น มี 2 สำนวน ประกอบด้วย
1. คดีพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายเชาวลิต วันที่ 7 ก.พ. 2565 คดีดำ อ.175/2565 ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่า ป.อ.มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 92, 138, 140, 289, 296 พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ร.บ.สถานบริการ (เหตุเกิดวันที่ 9 ก.ย. 2562) ซึ่งศาลรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกับที่อัยการยื่นฟ้องจำเลย 4 คนไปก่อนในปี พ.ศ. 2564
โดยพฤติการณ์ตามฟ้องพวกจำเลยพกอาวุธปืนติดตัวไปบริเวณร้านอาหาร ต.ปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง และใช้อาวุธยิงผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ ระหว่างเหตุต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่การจับกุมเยาวชนครอบครองอาวุธปืน ซึ่งคดีนี้โจทก์ขอให้ศาลเพิ่มโทษหนึ่งในสามกับนายเชาวลิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ด้วยเนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดวันที่ 30 พ.ย. 2554 คดีหมายเลขแดง 2816/2554 โทษจำคุก 9 ปี 13 เดือน 15 วัน ความผิดมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์) เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยระหว่างพิจารณา นายเชาวลิต ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น 3 ครั้ง และมีการอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวม 3 ครั้ง ผลคำสั่งประกันทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีความเห็นทำนองเดียวกันว่า กรณีอุกฉกรรจ์ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับประวัติของจำเลย หากได้รับการปล่อยชั่วคราว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนีหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น
ส่วนจำเลยอื่นอีก 4 คนในคดีเดียวกันนี้ มีทั้งที่ไม่ยื่นประกันตัว ยื่นประกันตัวแล้วไม่อนุญาต และศาลจังหวัดพัทลุงอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักประกัน 480,000 บาท แต่จำเลยนั้นไม่มีหลักทรัพย์มาวาง ขณะที่คดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 แต่ปรากฏว่า นายเชาวลิต จำเลยที่ 5 หลบหนี ซึ่งศาลจังหวัดพัทลุงได้รับรายงานวันที่ 31 ต.ค. 2566 ว่า ผู้ต้องขังหลบหนีการควบคุมของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ขณะไปตรวจรักษาทันตกรรมที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ศาลจึงได้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
2. คดีพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายเชาวลิต วันที่ 11 ม.ค. 2565 คดีหมายเลขดำ อ.49/2565 ความผิดกล่าวหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับ ความผิดต่อเสรีภาพ ป.อ.มาตรา 83, 91, 92, 309, 340, 340 ตรี ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนฯ กรณีวันที่ 2 ก.ค. 2562 นายเชาวลิตกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนติดตัวไป ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับกลุ่มเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วร่วมกันลักเอาอาวุธปืน กระสุนปืนหลายรายการไป ในช่วงแผนประทุษร้ายชิงตัวนายสิทธิเดช ทรงเดชะ หรือจรวด ที่ถูกจับคดียาเสพติด โดยศาลจังหวัดพัทลุงมีคำพิพากษาวันที่ 30 พ.ย. 2565 เป็นคดีหมายเลขแดง อ.1861/2565 ลงโทษในความผิดร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธฯ ป.อ.มาตรา 335(1)(7) วรรคสองประกอบมาตรา 336 ทวิ ความผิดต่อเสรีภาพ และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ซึ่งศาลเพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามที่อัยการขอท้ายฟ้อง กรณีที่จำเลยนั้นเคยรับโทษความผิดคดีอาญาอื่นที่ถึงที่สุดแล้ว จึงจำคุกนายเชาวลิตทั้งสิ้นเป็นเวลา 20 ปี 16 เดือน พร้อมกับให้จำเลยคืนอาวุธและเครื่องกระสุน หรือใช้เงินแทนแก่ตำรวจผู้เสียหายสามรายด้วย โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีตามสิทธิ และเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดพัทลุงได้ส่งสำนวนคดีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9
ซึ่งคดีนี้จำเลยใช้สิทธิยื่นขอประกันในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น 4 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งประกันรวมทั้งยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีรวม 4 ครั้ง โดยทั้งสองชั้นศาล มีความเห็นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลลักษณะเดียวกันว่า เป็นคดีอุกฉกรรจ์ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ข้อหามีอัตราโทษสูง ตามฟ้องใช้อาวุธปืนสงครามในการก่อเหตุ และจำเลยยังถูกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในคดีหมายเลขดำ อ.175/2565 ของศาลจังหวัดพัทลุงอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำหลังเกิดเหตุคดีนี้ 2 เดือน อีกทั้งจำเลยเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษในข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืนทำนองเดียวกับคดีนี้มาก่อน หากอนุญาตเกรงว่าจะก่อเหตุอันตรายซ้ำอีก และเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจะเกิดความเสียหาย คดีทั้งสองสำนวนไม่ปรากฏข้อมูลว่านายเชาวลิตใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวต่อศาลฎีกา
ส่วนข้อมูลที่อ้างถึงการใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวนายเชาวลิต แต่ให้ประกันตัวจำเลยอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงในสำนวน กรณีที่ศาลมิได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายเชาวลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายแล้ว โดยตามคำสั่งที่ไม่ให้ประกันตัวนายเชาวลิตของทั้งศาลจังหวัดพัทลุงและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะพฤติการณ์กระทำความผิดร้ายแรง มีการใช้อาวุธสงครามในการก่อเหตุ นายเชาวลิตถูกดำเนินคดีสองคดีในระยะเวลาใกล้ๆ กันในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. 2562 ห่างกันเพียง 2 เดือนเศษ อีกทั้งมีประวัติการกระทำความผิดหลายคดี ทั้งยังมีการตรวจสอบประวัติของจำเลยในสารบบความของศาล มีประวัติการกระทำผิดมาหลายครั้ง ซึ่งนายเชาวลิตเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ความผิดบุกรุก ความผิดต่อชีวิตเสรีภาพฯ ช่วงปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2553 นับ 10 คดี ทำให้น่าเชื่อว่า หากให้ปล่อยชั่วคราวไปอาจหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นอีก อันเป็นเหตุที่กฎหมายกำหนดให้ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ให้ปล่อยชั่วคราวก็ได้
ส่วนกรณีของ นายสิทธิเดช ทรงเดชะ หรือ 'จรวด' ที่ถูกดำเนินคดีจากพฤติการณ์เกี่ยวพันกับนายเชาวลิตในการชิงตัวประกัน พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 คดีหมายเลขดำ อ.1031/2564 ข้อหาพยายามฆ่า ร.ต.อ.อภิชาติ สกุลกิจ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 ชั้นพิจารณา นายสิทธิเดชยื่นขอประกันตัว ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว ให้ทำสัญญาประกันและวางหลักประกัน 480,000 บาท แต่เมื่อคดีอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษว่า มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 288, 80 และให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตาม ป.อ.มาตรา 92 จากกรณีที่เคยต้องโทษถึงที่สุดคดีอื่นมาแล้วตามที่โจทก์ขอด้วย รวมจำคุกทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน พร้อมริบลูกกระสุนของกลาง และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ร.ต.อ.อภิชาติ ด้วยจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินนับแต่วันละเมิด (2 ก.ค.2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายสิทธิเดช หรือ จรวด ได้ยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยศาลจังหวัดพัทลุงส่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว เพราะเห็นว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้วหลายคดี และครั้งสุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต (คดีความผิดต่อชีวิต พยายาม, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ, ลหุโทษ, ละเมิด มีคำพิพากษาวันที่ 19 ก.พ. 2557) สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 13 ปี 4 เดือนซึ่งเป็นอัตราโทษสูง หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี โดยจำเลยใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ด้วย แต่ศาลก็ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
กระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2565 นายสิทธิเดชยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แล้วศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกัน 480,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป ขณะที่คดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงกำหนัดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ซึ่งในวันนัดจำเลยจะต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ตามนัด หากผลเป็นอย่างไร จำเลยก็ใช้สิทธิยื่นประกันตัว รวมถึงการยื่นฎีกาสู้คดีต่อไปได้เหมือนคดีอาญาอื่นๆ
ทั้งนี้การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาใด ๆ ศาลย่อมต้องพิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ และข้อมูลรายงานคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนเรื่อยมาประกอบด้วย ซึ่งแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อหาที่ถูกดำเนินคดี บทบาทของผู้ต้องหา และจำเลยแต่ละคนในการกระทำที่ถูกกล่าวหา ตลอดจนประวัติและความเกี่ยวเนื่องกับคดีอื่น การที่คดีหนึ่งให้ประกัน แต่อีกคดีไม่ให้ จึงเป็นผลจากพฤติการณ์ในแต่ละกรณี ไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีใดคดีหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ศาลไม่ให้ประกัน ไม่ได้หมายความว่าศาลจะฟังและเชื่อเป็นยุติตามที่เจ้าพนักงานตำรวจระบุมาเท่านั้นตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่ข้อมูลของเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะต้องใช้ประกอบการพิจารณา เพราะเป็นพยานหลักฐานที่มีการรวบรวมได้และมีอยู่ในขณะนั้น ส่วนการพิพากษาจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาต่อไป
ศาลยุติธรรมยืนยันว่าในการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราว ศาลให้การพิจารณาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับผู้ต้องหาหรือจำเลยคนหนึ่งคนใดเป็นการเฉพาะ และในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันที่ศาลได้พิจารณาพฤติการณ์และมีคำสั่งที่เหมาะสมตามรูปคดีและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว