สภาผู้บริโภคเตือน ก.พลังงาน ขึ้นค่าไฟหน้าร้อนกระทบ ปชช. แนะตรึงค่า Ft
สภาผู้บริโภค เตือนกระทรวงพลังงานขึ้นค่าไฟหน้าร้อน สร้างภาระให้ประชาชนหนักมาก เหตุเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แนะตรึงค่า Ft-เร่งประกาศนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง ปลดล็อกติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ลดค่าไฟ ให้มิเตอร์คิดแบบหักลบหน่วยได้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 ที่หน่วยละ 4.68 บาท จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย และตามที่นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานได้ให้ข่าวว่าจะพยายามจัดการราคาให้อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย หรืออาจจะขึ้นมาอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วยนั้น
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า หากกระทรวงพลังงานอนุมัติให้ขึ้นค่าเอฟที (Ft) เพิ่มอีก 20 สตางค์ต่อหน่วย และแม้ดูเหมือนว่าจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ กกพ. เสนอ แต่การขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงเข้าหน้าร้อนของประเทศไทย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนจะสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทันที เพราะในช่วงอากาศร้อนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอยู่แล้วโดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศ
สอดคล้องกับการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เคยเผยแพร่ผลการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าการเปิดเครื่องปรับอากาศในขณะที่อุณหภูมิภายนอกสูง หรืออากาศร้อน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าสภาวะอากาศปกติหรือไม่ โดยพบว่า การเปิดเครื่องปรับอากาศท่ามกลางอากาศร้อน ยิ่งทำให้กินไฟมากขึ้นจริง และหากอากาศร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 14 ตัวอย่างเช่น จากเดิมเคยใช้ไฟต่อเดือน 300 หน่วย และเคยจ่ายค่าไฟหน่วยละ 4 บาท จะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟ 1,200 บาท ก็จะมีการใช้ไฟเพิ่มขึ้นเป็น 342 หน่วย แต่หากปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย ก็ต้องจ่ายค่าไฟมากถึง 1,600 บาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 400 บาทเป็นอย่างน้อย หรือหากปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.20 บาทต่อหน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟ 1,436 บาท หรือเพิ่มขึ้น 236 บาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือนและภาษีมูลค่าเพิ่ม
นางสาวรสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาผู้บริโภคได้เสนอความเห็นต่อ กกพ. ไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าเอฟที ในรอบนี้เพราะอากาศร้อนขึ้นและจะมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้น ประกอบกับข้อมูลที่ระบุถึงความเป็นไปได้ของสภาวะอากาศร้อนในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะมีความร้อนสูงมากกว่าปีที่ผ่านมาอันเนื่องจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน และที่ตามมาคืออาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะสูงมากกว่าหน้าร้อนของปี 2566 อีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงพลังงานและ กกพ. จึงควรเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าและควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเองได้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการเร่งประกาศนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ปลดล็อกให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ลดค่าไฟฟ้าและให้มีการติดเน็ตมิเตอร์ริงที่สามารถนับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตเกินจากหลังคาโซลาร์เซลล์เข้าสู่การไฟฟ้าในเวลากลางวัน และนับหน่วยไฟฟ้าที่นำเข้ามาใช้จากการไฟฟ้าในเวลากลางคืนเมื่อโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่ง เน็ตมิเตอร์ริงนี้สามารถนำหน่วยที่ส่งออกและนำเข้ามาหักกลบลบจนเหลือยอดสุทธิใ่นปลายเดือนได้ เพื่อให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ประโยชน์สูงสุดจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันทีหรืออาจสร้างรายได้เมื่อมีหน่วยไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้า
ทั้งนี้รวมถึงควรขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของประชาชนเพิ่มจาก 10 ปี เป็น 20 หรือ 25 ปี ตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยระบบเงินผ่อน นอกจากนี้ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ตาม พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ โดยการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพียง 9 - 10 แผง โดยอนุโลมให้ไม่ต้องใช้วิศวกรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างของหลังคาบ้าน และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับประชาชน
“การให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านของตัวเองได้จะทำให้มีการนำศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ในประเทศมาใช้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการนำเข้าไฟฟ้าและก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) จากนอกประเทศ และยังเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประชาชนจากโซลาร์เซลล์ราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยจะก่อให้เกิดการจ้างงานด้านการผลิตและติดตั้งโซลาร์เซลล์ในช่วงระยะเวลา 3 ปีมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แรงงานราว 3,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งความท้าทายในการเร่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน และจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นางสาวรสนา กล่าว