ศึกษา "กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท" จากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอนที่ 2)

ศึกษา "กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท" จากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอนที่ 2)

มาตรา 1015 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้น

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 672/2486

ห้างหุ้นส่วนสามัญเมเจอร์สฯ โจทก์

นายสมาน วัชระศิริธรรม จำเลย

ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปตามความหมายในมาตรา 801 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงมีอำนาจฟ้องความแทนห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงฟ้องความได้

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2495

นายเนือง จำนงบูรณแพทย์ โจทก์

กระทรวงกลาโหม จำเลย

การฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยนั้น โจทก์เพียงแต่ระบุชื่อนิติบุคคลเป็นจำเลย ไม่ระบุผู้แทนนิติบุคคลมาด้วยก็ย่อมใช้ได้ เพราะนิติบุคคลย่อมมีผู้ดำเนินการอยู่ในตัวตามกฎหมาย

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2502

องค์กรจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า โจทก์

นายฟอง สิทธิธรรมกับพวก จำเลย

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าบริษัทนั้นได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวต้องฟ้องบริษัท

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2516

นายสถิต ตั้งวาริธร ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์

นายพรชัย วัฒนจาวเรือง นายอ๊าหยุด แซ่ตั้ง นายสำราญ จันทร์เสริม นายซู้เซง แซ่ตั้งโจทก์ นายเฉลิม มูกา ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน จำเลย

 

ในขณะที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยาง ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

โจทก์ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ซึ่งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำต่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนนั้นได้ และอำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อผู้กระทำละเมิดต่อทรัพย์นั้นเป็นบุคคลสิทธิ มิใช่ทรัพยสิทธิที่ติดตามไปกับตัวทรัพย์   

เมื่อสิทธิดังกล่าวได้เกิดมีขึ้นแล้ว แม้ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลาย ซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนนั้นก็ตาม อำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็หาโอนไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ศึกษา \"กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท\" จากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอนที่ 2)

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2530

ห้างหุ้นส่วนสามัญโรงหล่อบ้านฮินหลุ่ง โจทก์ โดยนายสมมาส หาญผจญโชค ผู้รับมอบอำนาจโจทก์

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเหมืองแร่รัตภูมิ กับพวก จำเลย

ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลจะต้องเป็นบุคคล ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) และคำว่าบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เพียงแต่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้เพื่อทำการค้าเท่านั้น มิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้และจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ไม่ได้

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7063/2539

นายเสถียร รัตนพิธานโจทก์

บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด จำเลย ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ส.นิยมทรานสปอร์ต จำเลยร่วม

กรมธรรม์ประกันภัยระบุเงื่อนไขว่า จำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกัน ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 

เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย และไม่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้เก็บรักษาควบคุมหรือครอบครองทรัพย์สินนั้น 

 แต่รถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนไว้จากจำเลยร่วมเป็นของจำเลยร่วม แม้ว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยร่วมแต่จำเลยร่วมจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ย่อมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 

ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยหาได้ไม่ ทั้งรถยนต์คันที่ได้รับความเสียหายเป็นของโจทก์มิใช่เป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมผู้เอาประกันภัยหรือของบุคคลดังกล่าว กรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวที่จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนชนได้รับความเสียหาย

ศึกษา \"กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท\" จากคำพิพากษาศาลฎีกา (ตอนที่ 2)

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17827/2556

นายพรรณรงค์ กูลเกื้อโจทก์

บริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กับพวก จำเลย

จำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งซึ่งรวมเข้าเป็นบริษัทจำเลยที่ 1 ฐานะของจำเลยที่ 4 จึงต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ.มาตรา 1015 คือ แยกต่างหากจากนิติบุคคลจำเลยที่ 1 

ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานสอบสวนหมายเรียกให้ไปแก้ข้อกล่าวหาหรือถูกศาลหมายเรียกให้ไปต่อสู้คดีหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ก็เป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้แทนนิติบุคคลตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง หาทำให้จำเลยที่ 4 ที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลกลายเป็นบุคคลคนเดียวกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 อันเป็นการลบล้างหลักกฎหมายในมาตรา 1015 ไปได้ไม่ 

ดังนั้น แม้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีข้อเท็จจริงเดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นบุคคลแยกต่างหากจากนิติบุคคลจำเลยที่ 1 และไม่ใช่บุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องในคดีก่อน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1)

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561

นายสมิทธิ์ จึงวิวัฒน์อนันต์ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้เข้าว่าคดีแทนโจทก์

บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับพวก จำเลย

ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ.บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น 

โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท.