เปิดไทม์ไลน์ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีระเบิด 'มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล'
เปิดไทม์ไลน์ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี "มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล" ช่วงเกิดเหตุมีคนงานขึ้นไปวัดปริมาณสาร C9+ ในถังมีอยู่จำนวน 8,000 คิว ก่อนสารเคมีระเบิดเป็นเหตุสลด พนักงานเสียชีวิต พร้อมเผยความจริง "สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน" อันตรายแค่ไหน? สูดดมเข้าไปทำให้สลบ-เสียชีวิตได้
ระทึกทั่วระยอง จากเหตุถังเก็บสารเคมี "ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน" หรือ ไพแก๊ส ระเบิด ที่มาบตาพุด ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ สารเคมีกระจายตัวทั่วบริเวณ พามาเปิดไทม์ไลน์ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี "มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล"
โดยช่วงเกิดเหตุมีคนงานขึ้นไปวัดปริมาณสาร C9+ ในถังมีอยู่จำนวน 8,000 คิว ก่อนสารเคมีระเบิดเป็นเหตุสลด พนักงานเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย พร้อมเผยความจริง "สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน" อันตรายแค่ไหน? สูดดมเข้าไปทำให้สลบและเสียชีวิตได้
โดยผู้บริหาร มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวานนี้ 9 พฤษภาคม 2567 สาเหตุเกิดถังเก็บสารเคมีระเบิดและลุกไหม้ ช่วงเกิดเหตุมีคนงานขึ้นไปวัดปริมาณสาร C9+ ในถังมีอยู่จำนวน 8,000 คิว ก่อนจะเกิดระเบิดจนพนักงาน 4 คนตกลงมาเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
เปิดไทม์ไลน์ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี "มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล"
เวลา 20.00 น. ที่ศูนย์บัญชาการตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินฯ เทศบาลเมืองมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่า กนอ. นายอัธยา นวลอุทัย หัวหน้า สนง.ปภ.ระยอง และนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด ผู้บริหาร บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีของ บริษัท มาบตาพุด แท็งค์ เทอร์มินอล จำกัด จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 10.45 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ถังเก็บสารซิไนพลัส สารผลิตปิโตรเคมี สารตั้งต้นโซเว้นท์ โดยมีพนักงานขึ้นไปตรวจวัดปริมาณสาร 4 คน บนถังเก็บที่มีปริมาณอยู่ในถัง 8,000 คิว แล้วเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ซึ่งยังไม่ทราบรายละเอียดเกิดจากสาเหตุใด รู้แต่ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยพนักงานทั้ง 4 คน ได้ตกจากที่สูง และถูกไฟลวกทำให้เสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย นอกจากนี้ยังมีพนักงานดับเพลิง ได้รับบาดเจ็บขณะเข้าระงับเหตุ 2 ราย
โดยขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ทางบริษัทใช้ทั้งน้ำและโฟมระงับเพลิง โดยได้ดับลงเวลาประมาณ 12.00 น. แต่ว่าถังที่ถูกไฟไหม้ยังมีความร้อนอยู่ทำให้ไฟปะทุขึ้นมาอีกรอบจุดเดิมเวลาประมาณ 13.00 น. โดยไหม้เสียหายเพียง 1 ถัง
จนกระทั่งในเวลา 18.00 น. จึงสามารถควบคุมเพลิงให้สงบลงได้ ซึ่งมีการตรวจอุณหภูมิที่ถังทุกชั่วโมงป้องกันไฟปะทุอีก อุณหภูมิอยู่ที่ 47-50 องศาเซลเซียส ถือว่ากลับมาอยู่ระยะที่เกือบปกติ ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังจนมั่นใจว่าปลอดภัย จึงจะดึงสารในถังออกมาให้หมด
และต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ซึ่งทางบริษัทจะดูแลเต็มที่ โดยเฉพาะบุตร จะส่งให้เรียนจนจบปริญญา ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งพนักงาน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะรับผิดชอบทั้งหมด
อย่างไรก็ตามทางบริษัทเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งจะดำเนินการหาสาเหตุ แต่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
ส่วนประชาชนที่อพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ทางบริษัทได้มีตรวจคัดกรอง ว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่และจะเฝ้าระวังต่อไป
เบื้องต้นขณะนี้หลังทราบข่าวไฟดับแล้ว ได้มีการกลับเข้าบ้านเรือนตัวเองหมดแล้ว
ด้าน นายอัธยา เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางจังหวัดระยอง ได้ประกาศให้ชุมชนหนองแฟบ, ตา-กวน, อ่าวประดู่ เป็นพื้นที่ประสบเหตุสาธารณภัยด้วย เพื่อให้การดำเนินการเข้าระงับได้สะดวก และให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
เผยความจริง "สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน" อันตรายแค่ไหน? สูดดมเข้าไปทำให้สลบและเสียชีวิตได้
สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) เป็นสารผสม จึงเกิดพิษต่อระบบหลายระบบ ได้แก่ ระบบหายใจ หัวใจ และระบบประสาทอย่างรุนแรง
โดยอาการที่เกิดขึ้นของผู้ได้รับผลกระทบ คือ ปวดหัว คลื่นไส้ และอาจกดทับประสาทถึงขั้นหมดสติ "สลบ" และเสียชีวิตได้
รวมถึงอาจระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้ลำสัก-อาเจียน ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการคัน และระคายเคืองต่อจมูก อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหล
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน
- หากเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน ห้ามระงับเหตุด้วยตนเอง ให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ
- สวมหน้ากาก N95 เป็นอย่างน้อยไว้ก่อน เพื่อป้องกันควันไฟ
- อพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ไปยังที่ปลอดภัยในทิศเหนือลม
- ติดตามสถานการณ์ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด
- ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด ใช้ผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามช่องว่าง
- เฝ้าระวังแหล่งน้ำในชุมชน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารเคมี ไม่ควรตักน้ำในบริเวณดังกล่าวมาใช้
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีถูกผิวหนัง
- รีบล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด เพื่อให้สารเคมีเจือจาง
- หากสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาโดยใช้น้ำสะอาดไหลผ่านตาประมาณ 15 นาที
- หากสูดดมสารเคมีเข้าไป และมีอาการแสบคอ เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน ให้รีบย้ายไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลทันที
อ้างอิง-ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , NationPhoto