กรมราชทัณฑ์ แจงยิบไทม์ไลน์ก่อน 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิต

กรมราชทัณฑ์ แจงยิบไทม์ไลน์ก่อน 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิต

กรมราชทัณฑ์ แจงยิบไทม์ไลน์ก่อน 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิต ยันดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน รอผลชันสูตรสาเหตุการตาย

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยนางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวกรณี นางสาวเนติพร เสน่ห์คง หรือ 'บุ้ง ทะลุวัง' นักกิจกรรมทางการเมือง ที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (14 พฤษภาคม) ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

 

นายแพทย์สมภพ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนางสาวเนติพร (บุ้ง ทะลุวัง) มาควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 โดยขณะนั้นนางสาวนิติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลางได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่ามีอาการอ่อนเพลียจากภาวะอดอาหาร จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลาง

 

จากนั้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2567 ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากอาการอ่อนเพลีย ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม - 4 เมษายน ได้ย้ายตัวนางสาวเนติพรไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เป็นเวลา 27 วัน และมีรายงานว่าปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือดต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน และยังอยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงมองว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

 

กระทั่งวันที่ 4 เมษายน 2567 แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯจึงได้มีหนังสือส่งตัวนางสาวเนติพรกลับมารักษาตัวที่ทันฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าสามารถรักษาต่อได้

 

 

โดยหลังจากที่นางสาวเนติพรได้กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วสามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้จัดให้พักในห้องผู้ป่วยรวมที่มีนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ 'ตะวัน' เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย และขอยืนยันว่าแพทย์และพยาบาลได้เฝ้าตรวจรักษาอาการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนั้นพบว่านางสาวเนติพรรู้สึกตัวดี มีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

 

จนกระทั่งวันเกิดเหตุ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 06.00 น. นางสาวเนติพรได้เกิดอาการวูบและหมดสติไปขณะกำลังพูดคุยกับนางสาวทานตะวัน เจ้าหน้าที่จึงได้ให้การช่วยเหลือและกระตุ้นหัวใจทันที พร้อมประสานส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ให้ความสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักนิติธรรม เฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของนางสาวเนติพรอย่างใกล้ชิด และเพื่อความโปร่งใสกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้นจะชี้แจงให้ทราบเมื่อผลการชันสูตรออกมาอย่างชัดเจน