การทำกิจการและนิติกรรมที่ไม่ผูกพันบริษัท
บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น การเป็นนิติบุคคลเป็นบุคคลสมมุติ ไม่สามารถกระทำการต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้แทนของบริษัทคือ กรรมการของบริษัทที่มีอำนาจกระทำการแทน
แต่กรรมการของบริษัทก็มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ เฉพาะภายใต้กรอบของวัตถุที่ประสงค์ของบริษัท ข้อบังคับของบริษัท มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และตามที่กฎหมายกำหนดไว้
หากกรรมการของบริษัทที่เป็นผู้แทนของบริษัทกระทำกิจการหรือนิติกรรมนอกกรอบวัตถุที่ประสงค์ของบริษัท หรือไม่เป็นไปตามข้อบังคับหรือมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กิจการหรือนิติกรรมนั้นก็ไม่ผูกพันบริษัท
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
- ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13476-13482/2558 ป.พ.พ. มาตรา 65 บัญญัติว่า “นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ”
มาตรา 66 บัญญัติว่า“นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง”
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลอันเป็นบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย การยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐจึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ต้องได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วย
เมื่อหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทของโจทก์ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนให้มีวัตถุประสงค์ในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นธารณสมบัติของ แผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย
โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งแปดและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้องปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นต่อสู้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- ไม่ได้กระทำโดยผู้แทนที่มีอำนาจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2551 โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์คือกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70วรรคสอง ส่วน ส. ตำแหน่งพนักงานซ่อมบำรุงเครือข่ายและ พ. ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมข่ายสายฉุกเฉินนั้นเป็นเพียงพนักงานของโจทก์
แม้จะฟังว่าบุคคลทั้งสองได้รับทราบเหตุละเมิดและ พ. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งซ่อมได้ดำเนินการจ้างบริษัท บ.เข้าซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำในฐานะที่ตัวแทนของบริษัทโจทก์และรับรู้ว่าบริษัทโจทก์ถูกบริษัทจำเลยกระทำละเมิดตั้งแต่วันเกิดเหตุ คือวันที่ 15 มิถุนายน 2540
แต่ ส. และ พ. ก็มีอำนาจเฉพาะในกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้นและไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีแก่จำเลยในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมแซมให้แก่โจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่า ส.และ พ. เป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ในการรับรู้เรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ด้วย
ดังนั้น อายุความ 1 ปี จึงเริ่มนับแต่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่ ส. หรือ พ. รู้ เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัว ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- กระทำนอกวัตถุประสงค์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2554 ขณะที่กรรมการบริษัทจำเลยทำบันทึกจ่ายค่าตอบแทนการทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์นั้น โจทก์สมัครใจทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว
และเหตุที่ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เห็นได้ว่าทำขึ้นจากการขอร้องของฝ่ายโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำการใดเพื่อเป็นการตอบแทน มีแต่จะขอปลดเปลื้องภาระที่ตนทำขึ้นเท่านั้น มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้มีรายได้
ดังที่นาย ส. กรรมการจำเลยเบิกความ บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกขอบ วัตถุประสงค์ของจำเลย และในเรื่องการชำระเงินนี้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านาย ส. เป็นผู้จ่ายเงินตามบันทึกข้อตกลงเอง ซึ่งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยเช่นกัน ไม่อาจถือว่าจำเลยให้สัตยาบัน บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2566 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้อื่น ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 66 ผู้แทนนิติบุคคลต้องกระทำกิจการหรือนิติกรรมภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจึงจะมีผลผูกพันนิติบุคคล
เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้อื่น สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่อง นอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
การให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่นิติบุคคลกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล เป็นการให้การรับรองนิติกรรมที่ไม่มีผลผูกพันให้มีผลผูกพันนิติบุคคลและบังคับกันได้ ซึ่งอาจทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย โดยสภาพการให้สัตยาบันจึงต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำนิติกรรมนั้นแล้ว
กรณีไม่อาจถือเอาการกระทำนิติกรรมนั้นเองเป็นการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นในขณะเดียวกันได้ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านิติกรรมที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล จะมีผลผูกพันนิติบุคคลนั้นทุกกรณี ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลให้แตกต่างจากบุคคลธรรมดา
การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นการให้สัตยาบันแก่การค้ำประกัน สัญญาค้ำประกัน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
- ขายที่ดินโดยอ้างมติที่ไม่มีการประชุมใหญ่จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4735/2562 บริษัทจำกัดซึ่งถูกกรรมการบริษัทนำที่ดินไปขายโดยอ้างมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ทั้งที่ความจริงแล้วมิได้มีการจัดการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอนุญาตให้กรรมการขายที่ดิน ย่อมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินนั้นได้ และกรณีดังกล่าวถือว่าเมื่อกรรมการบริษัทผู้โอนไม่มีสิทธิขายที่ดินแล้ว แม้ผู้รับโอนสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน.