พร้อมให้บริการ 28 ก.ค.นี้ รถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ
กรมราง มั่นใจ รถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ พร้อมให้บริการ 28 ก.ค. นี้ วิ่งลอดผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ และอุโมงค์หินลับ อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ มั่นใจสะดวก และปลอดภัย
วันนี้ (25 ก.ค.67) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในส่วนของสัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร และสัญญา 3 งานอุโมงค์ เพื่อตรวจเช็คความพร้อมทั้งด้านงานก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย งานบริการ ก่อนจะมีการเปิดเดินรถทางคู่ ระยะทาง 42.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย ช่วงมาบกะเบา-มวกเหล็กใหม่ ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร และช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
สำหรับ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเส้นทางก่อสร้างแบ่งเป็น ช่วงมาบกะเบา - มวกเหล็ก ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศ คือ อุโมงค์ผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบากับสถานีหินลับ เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว มีความกว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 ม. ระยะทาง 5.41 กม. เป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย และอุโมงค์หินลับ (อุโมงค์ที่ 2) ตั้งอยู่ที่สถานีหินลับกับสถานีมวกเหล็ก เป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ กว้าง 11.0 เมตร สูง 7.30 เมตร ระยะทาง 265 เมตร
ทั้งนี้ ภายในอุโมงค์ผาเสด็จ มีระบบความปลอดภัยที่ครบครัน ทั้งระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ระบบดับเพลิง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (cctv) ระบบจ่ายไฟฟ้ากำลังสำรอง ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบตรวจจับผู้บุกรุกเข้ามาในอุโมงค์ ระบบตรวจจับก๊าซออกซิเจน (ไม่น้อยกว่า 18%) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (ไม่เกิน 70 ppm) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (ไม่เกิน 0.2 ppm) หากตรวจพบค่าใดค่าหนึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ระบบระบายอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติ มีระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน ระบบ SCADA และระบบตรวจจับความร้อนโดยใช้ fiber optic อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในอุโมงค์ผาเสด็จมีทางเดินอพยพฉุกเฉินด้านข้างทางรถไฟ และมีทางเชื่อมหนีภัยระหว่างสองอุโมงค์ (cross passage) ทุกระยะประมาณ 500 เมตร รวม 11 แห่ง และมีห้องอุปกรณ์ (equipment room) 5 แห่ง รวมทั้งมีห้องควบคุมอยู่ด้านบนฝั่งเหนือของอุโมงค์ผาเสด็จ เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมสั่งการตรวจจับสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ภายในอุโมงค์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน NFPA 130
โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในการอพยพผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในอุโมงค์ผาเสด็จ และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ จะเปิดให้บริการเดินรถไฟแบบทางคู่สายอีสาน รวมระยะทาง 42.90 กม. เริ่มจากช่วงสถานีมาบกะเบาถึงสถานีมวกเหล็ก ลอดอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ แล้ววิ่งเบี่ยงขวาเข้าทางเดี่ยวเดิมก่อนถึงสถานีมวกเหล็กใหม่ เนื่องจากทางลงทางรถไฟยกระดับของสถานีมวกเหล็กใหม่ ยังอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องค่าปรองดองก่อนดำเนินการก่อสร้าง จึงต้องใช้ทางเดี่ยวเดิมไปพลางก่อน จากนั้นจึงกลับมาเริ่มเดินรถทางคู่อีกครั้งตั้งแต่ประแจหมายเลข 3 (ประแจ 102A) ด้านเหนือของสถานีบันไดม้า โดยขบวนรถเที่ยวขึ้นจะผ่านประแจ 102 B (ล๊อคประแจในท่าทางเลี้ยว) ใช้ทางคู่จนถึงสถานีคลองขนานจิตร โดยสถานีบันไดม้าจะใช้ทางล่องวิ่งร่วมกันเพียงทางเดียว อย่างไรก็ตาม ทางรถไฟเส้นเดิมที่ผ่านสถานีผาเสด็จและสถานีหินลับ ยังคงมีไว้รองรับการขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งมีเดินรถวันละ 8-10 ขบวน รวมถึงขบวนรถไฟท่องเที่ยวที่จัดเฉพาะกิจเท่านั้น
การเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่นี้จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกโดยขึ้นรถได้ที่สถานีมาบกะเบาและสถานีมวกเหล็ก และช่วยลดเวลาการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางให้ประชาชน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ โดยใช้ระบบ E-token ที่มีความปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับมาตรฐานสากล