เตือน ฝนตก น้ำขัง ระวัง "โรคฉี่หนู" ป่วยพุ่งเกือบ 2,000 คน เสียชีวิตแล้ว 24 ราย
กรมควบคุมโรค เตือน ฝนตก น้ำขัง โปรดระวัง "โรคฉี่หนู" 7 เดือนพบป่วยพุ่งเกือบ 2,000 คน เสียชีวิตแล้ว 24 ราย เช็กอาการของโรค ย้ำไม่เดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ จึงทำให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง หนึ่งในผลกระทบทางสุขภาพที่พบได้บ่อยหลังจากมีน้ำท่วมขัง คือ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือ "โรคฉี่หนู" เป็นโรคที่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนหรือเกิดพายุมรสุม
โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) เกิดจาก
โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ เชื้อออกมาจากปัสสาวะของสัตว์และปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขังเล็กๆ และพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะต่างๆ เชื้อดังกล่าวมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผลหรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน หรืออาจชอนไชผ่านผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ รวมถึงการรับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
ข้อมูลจากระบบการรายงานโรค Digital Disease Surveillance (DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 กรกฎาคม 2567 พบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิส หรือ โรคฉี่หนู จำนวน 1,952 ราย มีผู้เสียชีวิต 24 ราย (คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 1.23)
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราป่วย 4.38 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อายุ 50-59 ปี (4.20) และอายุ 40-49 ปี (3.24) ตามลำดับ
สำหรับ กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 30-39 ปี (ร้อยละ 2.16) รองลงมา คือ 60 ปีขึ้นไป (1.61) และ 50-59 ปี (1.44) ตามลำดับ
ส่วนข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยในอาชีพเกษตรกรสูงที่สุด ร้อยละ 30.77 รองลงมา คือ อาชีพรับจ้าง (23.08) และกรีดยางพารา (15.38) ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสแหล่งน้ำ/ดินชื้นแฉะ (ร้อยละ 91.67)
อาการสำคัญที่พบคือ มีไข้เฉียบพลัน ร้อยละ 91.67 รองลงมาคือ หายใจหอบเหนื่อย (83.33) ไอแห้ง (66.67) และปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง (58.33)
อาการของโรคฉี่หนู
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง อาการของโรคฉี่หนู ว่า ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่สังเกตความแตกต่างได้ คือ หลังติดเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่บริเวณหลัง น่องและโคนขา ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง หากมีอาการดังกล่าวภายหลังเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ที่ตรวจรักษาทราบด้วย เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะทำให้อาการรุนแรง เช่น ตับไตวาย มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า
โรคฉี่หนูป้องกันได้
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าที่หุ้มเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบทำความสะอาดบาดแผลและร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ
- หมั่นล้างมือ ล้างเท้า ด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่และร้อน อาหารที่ค้างมื้อควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และอุ่นให้เดือดหรือร้อนก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง
- ดูแลทำความสะอาดที่พัก บ้านเรือน และห้องครัวให้สะอาด หากทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดควรสวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด ควรเก็บขยะโดยเฉพาะเศษอาหารในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารให้หนูเข้ามาในบ้าน
- หากมีไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง/ดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ หนู วัว ควาย หมู สุนัข และแพะ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบเพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422