ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ความรับผิดทางแพ่งในการชดใช้ค่าเสียหาย ตามหลักกฎหมายแห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ ที่เป็นหลัก คือ การผิดสัญญา ที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่กฎหมายเรียกว่า ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา

คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่กฎหมายเรียกว่า เจ้าหนี้สามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 222   ด้วยการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่เกิดขึ้นตามปกติได้ และอาจเรียกค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพฤติการณ์พิเศษ ที่คู่สัญญาคาดว่าจะเกิดหรือควรคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วย

                   ความรับผิดอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำละเมิด โดยผู้ถูกทำละเมิดมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดจากผู้ทำละเมิดและผู้ต้องร่วมรับผิดได้ตามมาตรา 438 ได้แก่การคืนทรัพย์สินที่ผู้เสียหายต้องเสียไป หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

                     ความรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายตามหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นการชดใช้เพื่อความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้น

                   ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ

                 ในปีพ.ศ.2551 ได้มีการตราพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  ออกใช้บังคับโดยมีการบัญญัติเรื่องค่าเสียหายที่เรียกว่า "ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ” เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้จงใจกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคหลาบจำและเกรงกลัวกฎหมาย และเป็นการปรามเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการอื่นเอาเยี่ยงอย่าง 

พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดคำนิยามของคำว่าค่าเสียหายเพื่อการลงโทษไว้ แต่บัญญัติรายละเอียดไว้ในมาตรา 42 คือ 

มาตรา 42 ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำ โดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย

                      การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด”

                          แนวคำพิพากษาศาลฎีกา

                        - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7567/2562   จำเลยที่ 1 ขายห้องชุด ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองโดยไม่ได้ระบุว่าใต้ห้องชุดดังกล่าวเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่ระบุว่าเป็นที่จอดรถ จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญมีผลกระทบต่อการพักอาศัยของผู้บริโภคทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย

ผู้บริโภคทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่ผู้บริโภคทั้งสองไม่ได้มีคำขอดังกล่าว คงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้เคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปติดตั้งที่แห่งอื่น

เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ติดตั้งไว้ที่อาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของรวม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4

การเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่แห่งใหม่ถือเป็นการก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับมติจากคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้

และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้บริโภคทั้งสองได้รับความเดือดร้อน มีผลกระทบต่อการพักอาศัย และความปลอดภัยย่อมเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสองมาโดยตลอด กรณีจึงเป็นเรื่องที่วิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง

ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้ แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39

โดยเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองและเมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ เป็นกรณีไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคทั้งสอง และขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงอีกสองเท่า            

                -  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2563         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อเดือนตุลาคม 2554 น้ำท่วมในโครงการและท่วมเข้ามาในบ้านโจทก์ เนื่องจากจำเลยทั้งสองปรับปรุงระดับพื้นดินต่ำเป็นแอ่งกระทะไม่เรียบเสมอกัน ระดับพื้นบ้านชั้นล่างของโจทก์ไม่ได้มีระดับสูงกว่าถนนหน้าโครงการ 0.60 เมตร ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตจัดสรร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับเสียหาย 

พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยทั้งสองจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินและบ้านมาตั้งแต่แรก มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงสมควรบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

              -   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2563       พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ

โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

                 -  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2565                       การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก

            .     - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2566           ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษมิใช่หนี้เงินขณะฟ้องที่จะนำมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224