เหตุผลที่ต้อง “กักกันโรค – Quarantine”  ปลาใหม่ 

เหตุผลที่ต้อง “กักกันโรค – Quarantine”  ปลาใหม่ 

เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มนักเลี้ยง ปลาสวยงาม ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการนำปลาตัวใหม่เข้ามาเลี้ยง ก่อนที่จะนำไปเลี้ยงรวมกับปลาตัวเดิมที่เลี้ยงอยู่แล้วจะต้องทำ การกักกันโรค หรือ Quarantine

เสียก่อน ขณะที่ใครหลายคนที่ไม่เคยเลี้ยงปลา อาจตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องกักโรค และต้องกักเป็นระยะเวลานานเพียงใด  ขั้นตอนนี้ควรจะทำกับปลาใหม่ทุกตัว หรือเฉพาะกับปลาต่างถิ่นที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น วันนี้มาลองทำความเข้าใจกัน 

“การกักกันโรค” มีความสำคัญอย่างมากในการจะเลี้ยงให้ปลานั้นๆ รอดตาย และไม่ส่งผลกระทบกับปลาที่มีการเลี้ยงอยู่ก่อนแล้ว  เนื่องจากเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคทั้งไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต ระหว่างปลาที่นำมาเลี้ยงใหม่กับปลาเก่า ป้องกันความเสียหายจากการสูญเสียปลาได้ดีที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาที่มีราคาแพงๆ เช่น ปลาแฟนซีคาร์ปที่ผู้เลี้ยงมักจะได้ปลามาคนละช่วงเวลาหากไม่มีการกักกันโรคและมีการติดต่อของโรคขึ้นในบ่อก็จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับผู้เลี้ยงได้

เนื่องจากบ่อปลาคาร์ปมีขนาดใหญ่จับปลาขึ้นมารักษาได้ยากแล้วการใช้ยาสารเคมีหรือยารักษาโรคในบ่อเลี้ยงอาจทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบกรองชีวภาพเสียหายและทำให้ระบบหมุนเวียนน้ำล่มได้

ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมเจ็บป่วยได้ตลอดช่วงเวลาของการเลี้ยง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนย้ายปลาจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่จะทำให้ปลาเกิดอาการเครียดภูมิคุ้มกันจะตกลงจึงเป็นสาหตุทำให้มีการป่วยได้ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังช่วยให้ปลาใหม่ได้ปรับตัวกับน้ำใหม่ สถานที่ใหม่ เป็นการฟูมฟักให้แข็งแรงขึ้นก่อนจะนำไปเลี้ยงจริง เป็นสิ่งที่ควรทำกับปลาใหม่ทุกตัวที่เราได้มา 

ช่วงระยะเวลาของการกักโรคของปลาแต่ละชนิด มีระยะเวลาแตกต่างกัน  สำหรับปลาสวยงามหลายๆ ตัว มักจะใช้ช่วงเวลาราว  7 วัน สังเกตอาการหรือร่องรอยโรค ปลามีการกินอาหารลดลงหรือไม่ หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆจึงค่อยย้ายเข้าไปรวมกับปลาเดิมในตู้ได้

แต่สำหรับปลานำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าจะต้องมีการผ่านตรวจโรคที่กรมประมงกำหนดมาแล้วก็จำเป็นต้องมีการกักกันโรคและตรวจซ้ำเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง โดยอาจจะต้องมีระยะเวลาการกักกันโรค หรือ Quarantine  Period ยาวนานกว่านั้น จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าปลาที่มาใหม่ปลอดจากเชื้อใด ๆ และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้แล้ว 

โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยประสบปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน เช่น สมัยที่ยังทำงานที่กรมประมงได้เคยให้เจ้าหน้าที่กรมประมงของประเทศอินโดนีเซียนำลูกปลากะรังพันธุ์หายากมายังประเทศไทยซึ่งผู้เขียนได้ไปรับด้วยตัวเองที่สนามบินดอนเมือง

ปรากฏว่าลูกปลาเกิดปัญหาระหว่างการขนส่งทำให้ปลาตายไปทั้งหมด 1 ถุง และลูกปลาอีก 1 ถุง ก็มีอาการไม่ค่อยดีมีตายอยู่ในถุงที่ขนส่งมาอีกพอสมควร สรุปว่าในครั้งนั้นมีปลาเหลือรอดอยู่เพียงแค่ 3 ตัวจากทั้งหมด 100 ตัว

อีกตัวอย่างของการเกิดปัญหาระหว่างการขนส่งคือ ทางกระทรวงการต่างประเทศและคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการความร่วมมือในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิลที่ประเทศโมแซมบิค ทวีปแอฟริกา  ได้มีการส่งลูกพันธุ์ปลานิลไป ปรากฏว่าในครั้งแรกลูกปลาก็ตายหมดเช่นกัน

ทั้งสองกรณีนั้นเกิดจากการที่ต้นทางไม่มีประสบการณ์ในการส่งปลาเดินทางในระยะทางไกลๆ ทำให้ปลาเกิดความเครียดสูงและทำให้ปลาอ่อนแอมาก 

การกักโรคเป็นเรื่องของการระวังเชื้อโรคของปลาที่มีชีวิต ส่วนลูกปลาที่ตายแล้วกับลูกปลาที่ต้องการทำลายให้ตายก็ยังต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เช่นกัน โดยวิธีจัดการที่ถูกต้อง คือการใช้คลอรีนความเข้มข้นสูงขนาด 100 ppm ใส่ลงไปในบ่อเลี้ยงเพื่อให้มั่นใจว่าปลาตายทั้งหมด ไม่มีตัวใดรอด

แม้คลอรีนที่มีความเข้มข้นเพียง 50 ppm ก็สามารถทำให้ผิวหนังของมนุษย์ตายได้แล้ว ในเวลาไม่กี่นาที นั่นคือลอกจนเป็นสีขาวซีด การใช้คลอรีนที่เข้มข้นขึ้นไปอีกเท่าตัวหรือ 100 ppm ย่อมช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีลูกปลาตัวใดรอดตายได้แน่นอน และยิ่งแช่คลอรีนไว้เช่นนี้เป็นระยะเวลายิ่งนานก็ยิ่งดี    

เมื่อครบระยะเวลาแช่คลอรีนแล้ว ต้องนำซากปลาขึ้นมาแช่ฟอร์มาลีนอีกครั้ง ก่อนจะขุดหลุมขนาดความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร โรยปูนขาวฆ่าเชื้อโรคที่ก้นหลุม จากนั้นก็ใส่ซากปลาลงไป แล้วโรยปูนขาวทับตัวปลาอีกชั้นหนึ่ง จึงค่อยเอาดินกลบ เท่านี้ก็จะมั่นใจได้ในเรื่องเชื้อโรคต่างๆ ที่จะไม่มีหลงเหลือสู่ธรรมชาติได้เลย 

หากสามารถทำได้เช่นนี้ในเชิงวิชาการก็มั่นใจได้ 100% ว่าไม่มีทางที่ลูกปลาทั้งหมดจะกลับฟื้นคืนชีพ และไม่มีทางที่จะมีเชื้อโรคใดๆ จากต่างประเทศหลงเหลือหลุดรอดไปสร้างปัญหาใดๆ ได้./