กำจัดคอร์รัปชันด้วยค่านิยม | วรากรณ์ สามโกเศศ
คอร์รัปชันก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหาศาลแก่ทุกสังคม อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเชิงวิชาการในเรื่องการเกิดและการปราบปรามคอร์รัปชันยังถือได้ว่าอยู่ในชั้นอนุบาล หากเข้าใจพฤติกรรมของคอร์รัปชันอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็สามารถกำจัดอย่างได้ผลยิ่งขึ้น
มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ผมขอนำมาเล่าสู่กันฟัง คำจำกัดความของคอร์รัปชันก็คือ “การลุแก่อำนาจซึ่งได้รับมาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว” (the abuse of entrusted power for private gain)
เป็นที่เข้าใจกันจากหลักฐานว่าคอร์รัปชันเกิดจากสองเรื่องใหญ่คือ
(1) การมีกฎหมายและใช้บังคับตลอดจนการปราบปรามในลักษณะอื่นๆ
(2) บรรทัดฐานทางสังคม (social norm ) หรือค่านิยมเกี่ยวกับความสุจริตการตื่นตัวเเละความใส่ใจในเรื่องการกำจัดคอร์รัปชัน ความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง ความรังเกียจการทุจริตการร่วมกันต้านโกง ฯลฯ
ถ้าสังคมมีกฎหมายเเละการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีประสิทธิภาพเเละมีบรรทัดฐานทางสังคมในการต้านคอร์รัปชันที่เข้มเเข็ง สังคมนั้นย่อมมีคอร์รัปชันน้อยดังที่เราเห็นกันในประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ดี เราไม่อาจทราบได้ว่าพลังของการมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพลังการมีบรรทัดฐานสังคมที่เข้มแข็งในเรื่องคอร์รัปชันมีอำนาจมากกว่ากัน เพียงใดเเละเพราะเหตุใดของเเต่ละสังคม เราจึงมักใช้นโยบายไม่ตรงจุด
ในเรื่องนี้เราไม่อาจทดลองสังคมในห้องแล็บได้แบบวิทยาศาสตร์ โดยแยกสองพลังนี้ออกจากกันและทำความเข้าใจว่าพลังใดเข้มแข็งกว่ากันภายใต้เงื่อนไขใด อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อกฎหมายอ่อนแอก็ทำให้ค่านิยมในเรื่องคอร์รัปชันอ่อนแอไปด้วย หรืออาจกลับกัน
งานวิจัยของ Ray Fisman และ Edward Miguel ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Political Economy ในปี 2549 น่าสนใจมากเพราะเขาสามารถศึกษาธรรมชาติของคอร์รัปชัน โดยแยกข้อมูลจากสองพลังดังกล่าวแล้วออกจากกันได้โดยการใช้ข้อมูลธรรมชาติ
เขาศึกษาใบสั่งจอดรถผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศต่างๆ ที่มาประจำอยู่ที่สหประชาชาติ ในเมืองนิวยอร์กระหว่างปี 2540 -2548 มีเจ้าหน้าที่ 1,700 คน จาก 146 ประเทศ ที่ทำผิดกฎหมายในเรื่องนี้รวม 150,000 ใบ คิดเป็นเงินค่าปรับ 18 ล้านดอลลาร์
แต่คนเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเลย เพราะทุกคนได้รับการคุ้มครองทางการทูตกล่าวคือ ถึงกระทำผิดมีใบสั่งเเต่ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับ
การกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้ถือว่าเป็นคอร์รัปชัน เพราะเท่ากับเป็นการหาประโยชน์ส่วนตัวจากการจอดรถอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียเงินอันเนื่องมาจากฐานะนักการทูตของตน
ดังนั้น ข้อมูลอันมหาศาลข้างต้นจึงเป็นคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายใต้พลังที่สองแต่เพียงอย่างเดียว คือค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคมที่แต่ละคนมี และนำมาจากประเทศของตนมาใช้ที่เมืองนิวยอร์ก
นี่คือการใช้ข้อมูลธรรมชาติที่ชาญฉลาดมาก หากเก็บข้อมูลของแต่ละประเทศเกี่ยวกับสองพลัง คือการบังคับใช้กฎหมายกับบรรทัดฐานสังคมมันก็จะปนเปกันจนแยกไม่ออก ไม่อาจบอกได้ว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นเพราะถูกลงโทษน้อยไปหรือเพราะมาจากค่านิยมในเรื่องคอร์รัปชัน
ในการศึกษานี้พลังที่หนึ่งไม่มีเเรงเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเนื่องจากไม่มีการปรับ ดังนั้น คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลพวงของพลังที่สองคือบรรทัดฐานสังคมหรือค่านิยมเเต่เพียงอย่างเดียว
การศึกษาพบว่า จำนวนใบสั่งของแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับระดับของคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ ประเทศที่มีดัชนีของการมีคอร์รัปชันสูงก็จะมีจำนวนใบสั่งจำนวนมาก และในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยก็จะมีจำนวนใบสั่งน้อย เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น อังกฤษ สิงคโปร์ ฯลฯ
การตีความจากการศึกษานี้ก็คือ พลังของบรรทัดฐานของสังคม หรือวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเกี่ยวกับคอร์รัปชัน มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเกิดคอร์รัปชัน
ในสถานการณ์ที่กระทำคอร์รัปชันได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องคำนึงถึงการเสียค่าใบสั่งเลย เจ้าหน้าที่การทูตของแต่ละประเทศกระทำการคอร์รัปชันอย่างเป็นไปตามค่านิยมที่ติดตัวเองมาจากสังคมนั้นๆ
เป็นที่ชัดเจนว่าบรรทัดฐานคอร์รัปชันถูกฝังเข้าไปในตัวผู้คนอย่างลึกซึ้ง หากจะแก้ไขคอร์รัปชันที่ได้ผล ต้องมีนโยบายที่เน้นการแก้ไขบรรทัดฐานของสังคมเกี่ยวกับคอร์รัปชันให้เข้มแข็ง ในขณะที่การปราบปรามคอร์รัปชันโดยมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ก็กระทำควบคู่ไปด้วย
เมื่อท่านน้ำลายไหลในเรื่องคอร์รัปชันแล้ว ผมมีข่าวสารมายั่วยุครับ ACT หรือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งในอดีตคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานเเละปัจจุบันคือคุณวิเชียร พงศธร ทำงานภายใต้มูลนิธิโดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนในประเทศไทย มีสมาชิก 54 องค์กร ทำงานมาครบ 10 ปีแล้วอย่างเเข็งขัน มีคนรุ่นใหม่มาร่วมงานอย่างคึกคักมาก
งานที่ทำไม่ใช่จับกุมคุมขังใครเพราะไม่มีอำนาจ หากทำด้านพลังที่สองคือการสร้าง social norm ในเรื่องคอร์รัปชันด้วยการชวนต่อต้านการโกง เปิดโปงการโกงให้พลเมืองตื่นรู้และตระหนักในความรุนแรงของปัญหา ฯลฯ
ACT จัดงานประจำปี “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2567 โกงแบบโปร่งใส ESG…G เหมือนมีแต่มองไม่เห็น” ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ เวลา 9-11 น. ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Facebook Live เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
งานมี 2 เวทีเสวนา โดยเวทีแรก “เท็จ-ทอล์ค” รับฟังเรื่องราว 5 คดีโกงจากหมู่บ้านถึงระดับชาติ เล่าเรื่องโกหกหลอกลวงแบบเสียดสีอย่างสนุกโดยมองจากแง่มุมของผู้โกง เป็นทั้งสาระและบันเทิงเลียนแบบ Ted Talk รับรองแปลกใหม่และแทงใจถึงกึ๋นอย่างสุดๆ
เวทีสอง White Brand พูดคุยผ่านแนวคิด ESG (Environmental-Social-Governance) โดยเน้นที่ G เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจให้มาร่วมต้านโกงจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ
ACT มีงานเเบบนี้มาหลายปี ครั้งนี้จะมีทั้งบันเทิงและสาระแปลกใหม่อย่างสนุกสนานทั้งหมด ACT ทำเพื่อสังคมไทยโดยเน้นการสร้างค่านิยมชื่นชมความสุจริตต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ละทิ้งการชี้เบาะแสการโกง และการสนับสนุนการปราบการโกงด้วยกฎหมายเเละการลงโทษโดยสังคมครับ.