ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง คร. ขออย่ากังวลกลับมาระบาด แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน

ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง คร. ขออย่ากังวลกลับมาระบาด แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน

กรมควบคุมโรค อัปเดตสถานการณ์ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ลดลง พบยังเป็นสายพันธุ์เดิม ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ขออย่ากังวลกลับมาระบาด แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกัน

ภายหลังผลการตรวจหาเชื้อโควิด คณะรัฐมนตรีใหม่ รัฐบาลแพทองธาร1 ซึ่งปรากฏว่านายทรงศักดิ์ ทองศรี และ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ให้ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด ทำให้สังคมกังวลเรื่องสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันว่าจะกลับมาติดเชื้อกันแพร่หลายนั้น

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 6 ก.ย. 67 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า สถานการณ์"ยอดผู้ป่วยโควิด-19" ในประเทศไทย ยังเป็นสายพันธุ์เดิม เป็นลูกหลานของสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงต่ำกว่าในอดีตลงไปมาก คนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคร่วม คนสุขภาพแข็งแรงดี อาการไม่รุนแรง บางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ดังนั้นปัจจุบันการติดเชื้อยังติดได้ แต่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้สถานการณ์ป่วยถือว่าลดลง ในหลายสัปดาห์ก่อน บางสัปดาห์ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ส่วนผู้ป่วยเหลือระดับ 100 กว่าคนต่อสัปดาห์ แต่ในส่วนของไข้หวัดใหญ่กลับพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาแทน

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ยังคงให้คำแนะนำว่า หากใครป่วยโรคทางเดินทายใจ ผู้ป่วยคือคนแรกที่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หากไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงการไปพบปะผู้คน หมั่นล้างมือบ่อยๆ ควรอยู่ห่างจากคนอื่นให้มากที่สุด หรือหยุดงาน 2-3 วัน เพื่อรักษาตัวเอง พักผ่อนให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นด้วย ส่วนคนที่สุขภาพพดี สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ก็พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ใช้ในกรณีที่อาจจะเข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เพื่อป้องกันตัวเองได้ และขอให้หมั่นล้างมือสม่ำเสมอ

วัคซีนโควิดยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น มีการคุยกันและนำเสนอให้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นทางเลือก อยู่ที่ สปสช.จะพิจารณาให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่

"หากพูดถึงความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น วันนี้วัคซีนโควิดไม่จำเป็นต้องฉีดทั่วๆ ไป ให้ฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ไม่เคยฉีควัคซีนมาก่อน เนื่องจากเชื่อว่าปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ยกเว้นเด็กเกิดใหม่ และการฉีดวีคซีนไม่ใช่เพื่อการป้องกันโรค แต่ฉีดเพื่อลดความรุนแรงของโรค" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล สัปดาห์ที่ 34 ตั้งแต่วันที่ 25-31 สิงหาคม 2567 ป่วย 569 ราย เฉลี่ยป่วย 81 รายต่อวัน (ส่วนข้อมูลป่วยสะสม 37,922 ราย เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 212 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 91 ราย) ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสม 200 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 อายุประมาณ 60-69 ปี

ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง คร. ขออย่ากังวลกลับมาระบาด แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน