การกำหนดเป้าหมายที่ดีสำคัญกับความสำเร็จและความคุ้มค่า
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีการตั้งวงเงินงบประมาณจำนวนกว่า 3.752 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.8%
ในการอภิปรายที่ปรากฏในการถ่ายทอดสด ผู้เขียนพบว่ามีประเด็นหนึ่งน่าสนใจ และเป็นประเด็นที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนได้อภิปรายถึงการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ภายใต้คำของบประมาณจากหลายหน่วยงาน
จึงขอหยิบประเด็นของการตั้งเป้าหมายที่ดี เป็นตัวแปรสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จของแผนงาน/โครงการได้
เป้าหมายที่ดีต้องมีลักษณะ S.M.A.R.T กล่าวคือ
S หมายถึง Specific เป้าหมายมีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจง
M หมายถึง Measurable วัดผลสำเร็จออกมาได้เป็นรูปธรรม
A หมายถึง Attainable ทำให้บรรลุผลได้ (ตามศักยภาพที่มี)
R หมายถึง Relevance หมายถึง มีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกันทุกส่วน
T หมายถึง Time-bound มีกรอบเวลาที่ชัดเจน นำไปสู่การเกิดผลให้ทันเวลาและประโยชน์ในการจัดลำดับความสำคัญ
ในหลักการคิดเชิงกลยุทธ์ เป้าหมาย คือ ผลลัพธ์ (outcomes) โดยหากแผนงาน/โครงการมีการกำหนดเป้าหมายที่ดีมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ย่อมส่งผลต่อการกำหนดผลผลิต (outputs) กระบวนการ (Process) และปัจจัยนำเข้า (inputs) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตและผลลัพธ์ตามที่คาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น เป้าหมายยังเป็นส่วนสำคัญในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งต้องเป็นหัวใจในการทำโครงการของภาครัฐ ที่มีแหล่งเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนในการดำเนินการ
และที่สำคัญในการตั้งงบประมาณขาดดุลเป็นการกู้ยืมเงินมาเพื่อการดำเนินการ จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ความคุ้มค่าซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของธรรมภิบาลจึงมีความสำคัญยิ่ง
แต่ทั้งนี้ เมื่อได้พิจารณาโครงการของภาครัฐที่เสนอคำของบประมาณ จะพบว่า หลายโครงการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นรูปธรรม หรือแม้แต่ใช้คำสวยหรูแต่ไม่รู้ว่าจะวัดผลอย่างไร เช่น การทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี กลุ่มเป้าหมายมีความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้น เป็นต้น
เป้าหมายลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่ปรากฏความชัดเจนถึงวิธีการวัดผลของความสำเร็จ เพื่อการประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการว่ามีผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นในการดำเนินการหรือไม่
การกำหนดนโยบายของรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน การทำนโยบายที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน จะทำให้ไม่สามารถวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานได้ และจะนำไปสู่การออกแบบกระบวนการได้ไม่ดี เพราะเป้าหมายของในการนำส่งผลผลิตและผลลัพธ์ไม่สามารถจับต้องได้
ยกตัวอย่างเช่น โครงการแจกเงินหนึ่งหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต แม้ว่าจะกำหนดเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ผ่านกระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยกำหนดอัตราการเจริญเติบโต GDP เป้าหมายไว้ที่ 5%
แต่ไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายดังกล่าวจะสามารถบรรลุได้หรือไม่ และอย่างไร รวมถึงวิธีการที่เสนอว่าจะดำเนินการนั้น จะสามารถส่งผลให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการได้จริง
เนื่องจากเป้าหมายที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่กว้าง และไม่เจาะจง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดวิธีการในการประเมินได้ ที่นำเสนอจึงเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น
นอกจาก เป้าหมายที่ไม่เฉพาะเจาะจง การออกแบบวิธีการในการนำส่งผลผลิตและผลลัพธ์ยังขาดความชัดเจน ว่าจะมีกระบวนการอย่างไร จนถึงวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะเป็นการแจกเงินสดทั้งหมด หรือผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลด้วย จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลอย่างที่คาดหวัง
ในขณะที่มีการใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการ จะส่งผลให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรได้ นอกจากนั้นแล้ว การกำหนดเป้าหมายที่ดีต้องยึดโยงกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย หรือเป็นการกำหนดเป้าหมายที่สาเหตุของปัญหาไม่ใช่อาการของปัญหา
การหาความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้ บ่อยครั้งที่การดำเนินการโครงการเป็นลักษณะที่ไม่เจาะจงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง แต่เป็นลักษณะทำเหมือนกันหมด (one size fit All)
ซึ่งการกำหนดวิธีการในลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง อาจทำให้ผลผลิตที่ได้รับไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่เป็นสาเหตุของปัญหาได้
อีกทั้งการกำหนดเป้าหมายในหลายกรณีเป็นลักษณะของการวัดผลผลิต ไม่ใช่การวัดผลลัพธ์ที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น หลายโครงการที่เสนอในการอภิปรายงบประมาณที่ผ่านมา มีการกำหนดเป้าหมายที่ผลผลิต
เช่น โครงการอบรมต่าง ๆ ซึ่งมักจะกำหนดเป้าหมายของจำนวนผู้เข้ารับการอบรม แต่มิได้พิจารณาถึงผลลัพธ์ว่า การอบรมที่เสนอของบประมาณนั้น จะทำให้เกิดผลลัพธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
การตั้งเป้าหมายที่ผลผลิตเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงที่การดำเนินการมุ่งให้งานเสร็จมากกว่างานสำเร็จ และอาจไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่คาดหวังได้
การกำหนดเป้าหมายที่ดีจะช่วยให้เกิดการคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่จะได้รับที่เป็นรูปธรรม สามารถใช้เป็นหลักในการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการได้ดีขึ้น เนื่องจากจะสามารถประเมินความคุ้มค่าและความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการได้ ว่าการดำเนินการในนโยบายใด โครงการใด มีความสำคัญสามารถตอบโจทย์ความต้องการ แก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ต้องเผชิญได้อย่างแท้จริง
โครงการเหล่านั้นควรได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินการโดยเร่งด่วนก่อน นอกจากนั้น การกำหนดเป้าหมายควรคำนึงถึงความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีการบูรณาการร่วมกัน
เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลได้ หลายกรณีที่มีการดำเนินงานแบบแยกส่วนขาดการบูรณาการ ทำให้เกิดแผนงาน/โครงการที่ดูเหมือนจะมีเป้าหมายที่ทับซ้อน
ตัวอย่างเช่น โครงการในการพัฒนาทักษะของประชาชน เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ที่มีหน่วยงานที่เสนอของบประมาณหลายส่วน หากสามารถบูรณาการเป้าหมายให้มีเอกภาพและสอดคล้องกัน จะลดปัญหาความทับซ้อนลดการสูญเปล่าของการใช้ทรัพยากรได้
รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ จากหลักการที่กล่าวข้างต้น จึงเกิดความคาดหวังต่อนโยบายรัฐบาลต่อไปว่า เป็นนโยบายที่จับต้องได้มากน้อยเพียงใด
และในการกำหนดนโยบายแต่ละด้านจะมีการวัดผลความสำเร็จ และวิธีการนำส่งผลลัพธ์อย่างไรในการนำไปสู่ความสำเร็จนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป.
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
รศ.ดร. ณดา จันทร์สม
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: [email protected]