จับตาอีก 10 วัน น้ำเจ้าพระยาสูงเกินเกณฑ์ "กรุงเก่า"เสี่ยงท่วม
ทีมวิจัยการบริหารจัดการน้ำเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมกรุงเก่า คาดน้ำท่าจะสูงเกินเกณฑ์และกระทบพื้นที่ริมฝั่งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม. ช่วงน้ำขึ้น ระบุปริมาณฝนยังมากทั้งภาคเหนือตอนบน อีสาน และตะวันตก ชี้พิจิตร-สุโขทัยอ่วมสุดยังท่วมกินพื้นที่เกิน 1 แสนไร่
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังน้ำท่วมปี 2567 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะนี้มีแนวโน้มปริมาณน้ำมากเป็นหลักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยคาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำท่าเพิ่มจาก 1,476 ลบ.ม. เป็น 2,209 ลบ.ม. ไปอีกพักหนึ่ง และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครในช่วงน้ำขึ้น
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel–1A ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ล่าสุดพบว่าพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีขนาด 609,308 ไร่ จำนวน 12 จังหวัด
จังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ พิจิตร และสุโขทัย (เกิน 100,000 ไร่) ขณะที่ปริมาณน้ำฝนยังคงมีฝนมากบริเวณฝั่งตะวันออกของภาคเหนือตอนบน รวมถึงตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก
สำหรับสถานการณ์ของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เขื่อนภูมิพลมีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 49% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 6,865 ล้านลบ.ม.)
เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 80% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 1,892 ล้านลบ.ม.)
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 50% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 466 ล้านลบ.ม.)
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 33% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 642 ล้านลบ.ม.)
เขื่อนกิ่วคอหมามีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 76% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 41 ล้านลบ.ม.)
เขื่อนกิ่วลมมีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 53% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 52 ล้านลบ.ม.)
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ใช้ข้อมูลจากภาพดาวเทียม Radarsat-2 ของวันที่ 10 กันยายน เวลา 18.15 น. ติดตามสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วม พบจังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมขังบางส่วนของจังหวัด #เชียงราย 78,614 ไร่ #พะเยา 25,325 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 103,939 ไร่
พื้นที่ที่พบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน โดยปริมาณน้ำท่วมขังทั้งหมดที่เกิดขึ้นในจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายจะถูกระบายลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป
หมายเหตุ : จากภาพที่พบพื้นที่น้ำท่วมขังจะมีค่าเฉลี่ยระดับความลึกของน้ำท่วมประมาณ 1-1.5 เมตร ซึ่งการประเมินพื้นที่น้ำท่วมขังได้จาก การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยประมาณ
สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ พร้อมรายงานสรุปพื้นที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัด เพิ่มเติมได้ที่ https://disaster.gistda.or.th