การตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa และการยกเว้นการตรวจลงตรา กับการทำงานในประเทศไทย
กรมการจัดหางานมีการพิจารณาแก้ไขคำนิยามของคำว่าการทำงานหรือออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้ชัดเจนเรื่องการทำงานทางไกล ก็จะทำให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกวีซ่าใหม่นี้ ส่งผลให้ดึงดูดคนต่างด้าวเข้ามาทำงานทางไกลในประเทศไทยมากขึ้น โดยจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายภายในของประเทศอย่างถูกต้อง
กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเพิ่มประเภทการตรวจลงตรานักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Destination Thailand Visa : DTV เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพและทักษะสูงเข้าประเทศทั้งเพื่อท่องเที่ยวและใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (Remote Worker หรือ Digital Nomad) รวมทั้งทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมหรือใช้บริการทางการแพทย์
คนต่างด้าวที่สามารถขอรับการตรวจลงตราประเภท DTV นี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1)เพื่อทำงานทางไกล ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะสูง กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มทำงานทางไกล (2)เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เรียนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัว เรียนทำอาหาร เรียนและฝึกซ้อมกีฬา รักษาพยาบาล อบรมสัมมนา จัดแสดงศิลปะและดนตรี (3)คู่สมรสและบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีของคนต่างด้าวตามข้อ (1) และ(2) โดยหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในการยื่นขอวีซ่ากับสถานทูตหรือกงสุลใหญ่ไทยคือคนต่างด้าวต้องมีหลักฐานทางการเงินไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท วีซ่านี้มีอายุการใช้งานได้ 5 ปี เดินทางเข้าออกประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแต่ละครั้งจะอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน โดยขอขยายเวลาการอยู่ในประเทศได้อีกหนึ่งครั้งไม่เกิน 180 วัน
สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อทำงานทางไกล สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการทำงานในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (”กฎหมาย”) ได้นิยามคำว่า “การทำงาน” ไว้อย่างกว้างว่า คือ “การประกอบอาชีพใดๆไม่ว่าจะมีนายจ้างหรือไม่” ซึ่งหากตีความตามตัวอักษรแล้ว คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศก็ถือเป็นการทำงานและต้องมีใบอนุญาตทำงาน แต่หากดูเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เพื่อป้องกันการแข่งขันการจ้างงานโดยนายจ้างไทยระหว่างแรงงานคนไทย และแรงงานต่างด้าว ในขณะที่การทำงานทางไกลนี้นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างเป็นนายจ้างต่างประเทศ จึงไม่เป็นการแข่งขันกับคนไทย คนต่างด้าวจึงเข้ามาพำนักและทำงานทางไกลด้วยวีซ่านี้ได้
อย่างไรก็ดี หากทางกรมการจัดหางานมีการพิจารณาแก้ไขคำนิยามของคำว่าการทำงานหรือออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้ชัดเจนเรื่องการทำงานทางไกล ก็จะทำให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกวีซ่าใหม่นี้ ส่งผลให้ดึงดูดคนต่างด้าวเข้ามาทำงานทางไกลในประเทศไทยมากขึ้น โดยจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายภายในของประเทศอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การทำงานกับนายจ้างหรือลูกค้าต่างประเทศนี้ ต้องไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของการทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการ งานหรือการประกอบธุรกิจใดๆ ในประเทศไทยอย่างแท้จริง เช่น หากนายจ้างต่างประเทศมีสัญญาให้บริการกับบริษัทไทยจึงส่งคนต่างด้าวมาทำงานให้บริการตามสัญญาในไทย หรือ กรณีอาชีพอิสระ หากคนต่างด้าวมีผู้ว่าจ้างเป็นบริษัทไทย เช่นนี้แล้วจะไม่ถือเป็นการทำงานทางไกล ไม่สามารถถือวีซ่าประเภทนี้เข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานได้
อย่างไรก็ตามหากคนต่างด้าวเข้าประเทศมาด้วยวีซ่านี้ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างไทย ก็สามารถขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราเป็นประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการทำงาน (Non-Immigrant B visa) และขอใบอนุญาตทำงานต่อไปได้
ประกาศกระทรวงมหาดไทยอีกฉบับเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในไทยคือ การขยายเวลาให้เข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น (Visa Exemption) จากเดิม 30 วัน เพิ่มเป็น 60 วัน กล่าวคือ คนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางของ 93 ประเทศและดินแดนที่กำหนดไว้ตามประกาศ สามารถเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานและติดต่อธุรกิจระยะสั้นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าจากสถานทูตหรือกงสุลใหญ่ก่อนเดินทาง
อย่างไรก็ดี ในกรณีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานและติดต่อธุรกิจระยะสั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า หากเป็นกรณีที่เข้าข่ายเป็นการทำงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจตามประกาศของกรมการจัดหางาน อาทิเช่น งานจัดประชุมอบรม บรรยายพิเศษด้านวิชาการ ตรวจสอบภายใน ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค ตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตรวจสอบหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต ติดตั้งทดสอบซ่อมแซมหรือปรึกษาการซ่อมแซมเครื่องจักรกล เป็นต้น คนต่างด้าวต้องแจ้งการทำงานอันจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจต่อนายทะเบียนกรมการจัดหางานก่อนที่จะเริ่มทำงานได้ โดยมีเวลาการทำงานไม่เกิน 15 วัน และหากงานยังไม่แล้วเสร็จภายใน 15 วันก็สามารถแจ้งขยายได้อีกไม่เกิน 15 วันรวมแล้วไม่เกิน 30 วันเท่านั้นถึงแม้ว่าจะสามารถพำนักในประเทศได้ 60 วันก็ตาม นอกจากนี้วีซ่าประเภทนี้ไม่ใช่วีซ่าสำหรับการทำงานระยะยาว หากประสงค์จะเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศก็จะต้องขอวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการทำงาน (Non-Immigrant B visa) และขอใบอนุญาตทำงานต่อไป