งานเข้า! ก๊วน ดิไอคอนกรุ๊ป ปปง.จ่อชงออกคำสั่ง อายัดทรัพย์ CEO - คณะผู้บริหาร
งานเข้า! ก๊วน ดิไอคอนกรุ๊ป ปปง.เร่งสืบทรัพย์ทุกรายการ จ่อชงออกคำสั่ง อายัดทรัพย์ CEO - คณะผู้บริหาร ไว้ตรวจสอบ กันถ่ายเททรัพย์สินหนี
ความคืบหน้ากรณี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ส่งเรื่องไปยัง เลขาธิการ ปปง. เรื่องรายงานคดีซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเนื้อหาภายในเอกสารระบุใจความว่า กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขอส่งแบบรายงานคดีซึ่งเป็นความผิดฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบการการฟอกเงิน
กรณี บอสพอล นายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก (ผู้เสียหาย) รวม 90 ราย รวมความเสียหายประมาณ 35 ล้านบาท เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก (ผู้ต้องหา) ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4,5,12 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีหนังสือแบบรายงานคดี ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จาก บก.ปคบ. ที่ส่งมายังสำนักงาน ปปง.นั้น ขณะนี้ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ได้มีคำสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ปปง. เข้าไปดำเนินการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้มีการประชุมทีมเจ้าหน้าที่ในเนื้อหาสาระสำคัญ โดยในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาดำเนินการ ส่วนระหว่างนี้ ปปง.จะต้องทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ครบถ้วน
จากรายงานข้อมูลของตำรวจ ปคบ. ว่ามีความเพียงพอที่ ปปง. จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้หรือไม่ หากยังมีรายละเอียดใดที่ ปปง. ประสงค์เพิ่มเติม ก็จะต้องทำการสอบถามกลับไปใหม่ เพื่อให้ได้ความถูกต้องชัดเจนมากที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องรายการทรัพย์สิน หรือตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์
ส่วนรายละเอียดภายในหนังสือแบบรายงานคดีของตำรวจ ปคบ. ที่ส่งให้ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินของบุคคล/นิติบุคคลนั้น โฆษก ปปง. เผยว่า เนื้อหาภายในจะเกี่ยวข้องกับตัวบริษัทที่ปรากฏเป็นข่าวและบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้
ขณะที่มูลค่าความเสียหาย ทางตำรวจ ปคบ. ได้แจ้งมาทั้งจำนวนผู้เสียหาย และจำนวนเงินที่ได้รับคำร้องทุกข์ คือ ผู้เสียหาย 90 ราย ส่วนมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นหลายสิบล้านบาท ทั้งนี้อาจมีมูลค่าความเสียหายและจำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ตำรวจ และ ปปง. เองจะต้องช่วยกันตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป
โฆษก ปปง. เผยต่อว่า หากข้อมูลจากตำรวจ ปคบ. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงินของ ปปง. เจ้าหน้าที่ก็จะได้ตรวจสอบว่า ผู้สัมพันธ์เกี่ยวข้องแต่ละรายมีการครอบครองทรัพย์สินรายการใดบ้าง และทรัพย์สินต่างๆ ได้มาอย่างไร จึงจะนำไปสู่กระบวนการดำเนินการกับทรัพย์สิน โดยต้องประมวลเรื่องส่งไปยังที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีมติออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบชั่วคราว
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อกังวลของสังคมว่าในระหว่างนี้ที่ยังไม่ปรากฏความผิดมูลฐาน อาจจะมีการจำหน่าย ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ต้องเรียนว่ามาตรการป้องกันกรณีดังกล่าวจะเหมือนคดีของ น.ส.กรกนก หรือ แม่ตั๊ก เนื่องจากพนักงานสอบสวนจะสามารถอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบเบื้องต้นตามอำนาจของ ป.วิอาญา
Cr.เนชั่นทีวี