"พื้นที่สูง" จำเลยหรือโอกาสในการพัฒนา

"พื้นที่สูง" จำเลยหรือโอกาสในการพัฒนา

ทุกครั้งที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่หรือวิกฤติหมอกควัน ผู้คนมักจะได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สูงกับเมืองบนพื้นที่ราบว่าไม่ได้อยู่แยกส่วนกันจากอยู่ แต่กลับมีความเชื่อมโยงถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อวิกฤติแบบนี้เกิดขึ้น หลายครั้งที่พื้นที่สูงถูกมองว่าเป็นต้นต่อสำคัญที่ทำให้ป่าไม้หายไป เกิดอุทกภัย หรือบ่อเกิดของฝุ่นควัน PM 2.5

สถานการณ์บนพื้นที่สูงมีความซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ป่าไม้ ต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ และยังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเฉพาะ มีทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพที่ค่อนข้างจำกัด อยู่ห่างไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และต้องพึ่งพาทรัพยากรรอบตัวสูง

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงราว 1 ล้านคน โดยในจำนวนนั้น 2.6 แสนคนเป็นผู้ยากจน

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางขึ้นเขาขึ้นดอยไปลงพื้นที่และสัมภาษณ์องค์กรและบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาบนพื้นที่สูงในหลายจังหวัด รวมถึงเชียงราย น่าน เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน รวมแล้วกว่า 20 พื้นที่ ได้เห็นว่า 

การพัฒนาพื้นที่สูงเป็นภารกิจที่ท้าทาย เนื่องจากต้องคำนึงถึงทั้งการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน

เส้นทางการพัฒนานี้สามารถแบ่งออกได้อย่างน้อย 3 รูปแบบ หรือ 3 ฉากทัศน์ที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน

ฉากทัศน์แรก เป็นภาพในฝันของการเติบโตอย่างยั่งยืน พื้นที่สูงสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในการพัฒนาการเกษตรและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านอาหารและพลังงาน โดยใช้พลังงานหมุนเวียน และมีการจัดการน้ำและป่าไม้ที่ยั่งยืน

การเกษตรในพื้นที่สูงเน้นเกษตรอินทรีย์ วนเกษตรและการผลิตพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ ชา และผลไม้เขตหนาวที่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน

ขณะเดียวกัน ก็ยังรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศซึ่งช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวและควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน

ฉากทัศน์ที่ 2 การเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่สูงของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยการท่องเที่ยวที่แออัดและรีสอร์ท การพัฒนาแบบนี้เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การเกษตรเชิงพาณิชย์ การท่องเที่ยว หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า

แม้เศรษฐกิจจะเติบโตในระยะเริ่มต้น แต่ในระยะยาว การพัฒนานี้กลับทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน เช่น การใช้สารเคมีในการเกษตรและการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ดินถูกชะล้างและพังทลาย การจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสมยิ่งเพิ่มปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางฤดูกาล

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง PM 2.5 การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการควบคุม ยังนำไปสู่การแออัดของนักท่องเที่ยวและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่อาจฟื้นฟูได้

ฉากทัศน์ที่ 3 เศรษฐกิจซบเซาและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรุนแรง ภาพที่เห็นในบางพื้นที่ มีซากต้นข้าวโพดที่ถูกเผาทำลายพื้นดินบนภูเขาและเขาหัวโล้นสะท้อนถึงการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่พึ่งพาสารเคมีสูงและการจัดการทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่ การชะล้างดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเผาป่าที่ทำให้เกิดหมอกควัน 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชากรในพื้นที่สูงยังคงยากจนและลูกหลานต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองหรือต่างประเทศ ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นเสื่อมโทรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบัน พื้นที่สูงของประเทศไทยจึงแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ พื้นที่ที่พัฒนาได้อย่างยั่งยืน พื้นที่ที่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ต้องแลกด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ที่ทั้งยากจนและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม 

การพัฒนาพื้นที่สูงในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าการพัฒนาแบบเร่งรีบอาจให้ผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ผลกระทบระยะยาวอาจรุนแรงเกินกว่าจะแก้ไขได้

การพัฒนาพื้นที่สูงให้ยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกันถึงบทบาทของพื้นที่สูงต่อทั้งประเทศ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ชุมชนท้องถิ่น และภาคเอกชนจะเป็นทางออกสำคัญในการสร้างอนาคตที่ทุกภาคส่วนสามารถเติบโตไปพร้อมกัน ไม่เพียงแต่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าสำหรับคนรุ่นต่อไป

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ เราไม่ควรเพียงแค่การหาผู้รับผิดชอบ แต่ร่วมกันมองให้ลึกถึงต้นตอของปัญหา และทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ชุมชนในพื้นที่สูงจะไม่เป็นจำเลยอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นโอกาสและความหวังที่ช่วยฟื้นฟูทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ยั่งยืน.