ด่วน เตือน กทม. - 49 จว. เฝ้าระวังภัยพายุฝน ลมแรง ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง 19-23 ต.ค. 67

ด่วน เตือน กทม. - 49 จว. เฝ้าระวังภัยพายุฝน ลมแรง ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง 19-23 ต.ค. 67

ด่วน! ปภ. แจ้งเตือน กทม. - 49 จังหวัด เฝ้าระวังภัย ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง น้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 19-23 ต.ค. 67

วันที่ 18 ตุลาคม 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 49 จังหวัด ในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19 - 23 ตุลาคมนี้

 

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 3 (226/2567) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันออก อีกทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 17/2567 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2567 คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 19 - 23 ตุลาคม 2567 ดังนี้

 

พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง

ภาคเหนือ 4 จังหวัด

  • ตาก
  • กำแพงเพชร
  • นครสวรรค์
  • อุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด

  • อำนาจเจริญ
  • นครราชสีมา
  • บุรีรัมย์
  • สุรินทร์
  • ศรีสะเกษ
  • อุบลราชธานี

ภาคกลาง

  • ทุกจังหวัด

 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม

ภาคกลาง 16 จังหวัด

  • กาญจนบุรี (อ.เมืองฯ ด่านมะขามเตี้ย พนมทวน ท่ามะกา)
  • ราชบุรี (อ.เมืองฯ สวนผึ้ง จอมบึง บ้านคา โพธาราม บ้านโป่ง)
  • ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ ประจันตคาม กบินทร์บุรี นาดี)
  • สระแก้ว (อ.เมืองฯ อรัญประเทศ)
  • ฉะเชิงเทรา (อ.ท่าตะเกียบ สนามชัยเขต)
  • ชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา บางละมุงสัตหีบ)
  • ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านค่าย ปลวกแดง นิคมพัฒนา)
  • จันทบุรี (อ.เมืองฯ ขลุง ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ มะขาม)
  • ตราด (อ.เมืองฯ บ่อไร่ เขาสมิง คลองใหญ่ แหลมงอบ)
  • เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (อ.ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย)
  • นนทบุรี (อ.เมืองฯ ปากเกร็ด บางบัวทอง บางกรวย)
  • นครปฐม (อ.เมืองฯ กำแพงแสน ดอนตูม นครชัยศรี พุทธมณฑล สามพราน)
  • สมุทรสาคร (อ.เมืองฯ บ้านแพ้ว กระทุ่มแบน)
  • สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ พระสมุทรเจดีย์ พระประแดง บางพลี บางบ่อ บางเสาธง)
  • กรุงเทพมหานคร (เขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก คลองสาน ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี บางคอแหลม สาทร ยานนาวา บางแค ราษฎร์บูรณะ หนองแขม ภาษีเจริญ บางบอน จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน)

ภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด

  • ชุมพร (อ.เมืองฯ สวี ทุ่งตะโก หลังสวน พะโต๊ะ)
  • สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ กาญจนดิษฐ์ พนม บ้านนาสาร บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก เกาะสมุย)
  • นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร)
  • พัทลุง (อ.เมืองฯ ควนขนุน)
  • สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ระโนด นาทวี สิงหนคร หาดใหญ่ รัตภูมิ)
  • ปัตตานี (อ.เมืองฯ แม่ลาน กะพ้อ ทุ่งยางแดง ไม้แก่น ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ หนองจิก)
  • ยะลา (ทุกอำเภอ)
  • นราธิวาส (ทุกอำเภอ)
  • ระนอง (ทุกอำเภอ)
  • พังงา (อ.ตะกั่วป่า กะปง)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • ตรัง (อ.เมืองฯ ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ)
  • สตูล (อ.เมืองฯ)

 

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID : @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย 1784 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป