หลอกลงทุนทำภารกิจ อ้างระบบปิดไม่สามารถถอนเงินได้ สูญเงินกว่า 7 แสน

หลอกลงทุนทำภารกิจ อ้างระบบปิดไม่สามารถถอนเงินได้ สูญเงินกว่า 7 แสน

เตือนภัย หลอกลงทุนทำภารกิจ อ้างระบบปิดไม่สามารถถอนเงินได้ สูญเงินกว่า 7 แสน ตำรวจตามจับรวบบัญชีม้าแก๊งมิจฉาชีพ

อุทาหรณ์เตือนภัย หลอกลงทุนทำภารกิจ อ้างระบบปิดไม่สามารถถอนเงินได้ สูญเงินกว่า 7 แสน ล่าสุดตำรวจตามจับรวบบัญชีม้า แก๊งมิจฉาชีพ

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3 บก.สส.บช.น. จับกุมตัว นายธีรภัทร์ อายุ 23 ปี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ตามหมายจับ ศาลแขวงธนบุรี ที่ 259/2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น”

จับกุม หน้าบ้านม.3 ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี

พฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 ผู้กล่าวหาได้ใช้งานแอพพลิเคชั่นไลน์และมีการเพิ่มบัญชีผู้กล่าวหาเข้าไปในโอเพนแชทหนึ่ง จำชื่อไม่ได้

โดยในโอเพนแชทดังกล่าวได้มีการลงว่ามีรายได้ มีผลตอบแทนให้กับบุคคลที่ทำงานด้วย ซึ่งผู้กล่าวหาก็ได้ดูข้อความในแชทดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ไม่สนใจ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เวลากลางคืน ผู้กล่าวหามีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ที่ตกลง ผู้กล่าวหาจึงประสงค์ที่จะหางานเพิ่มเติม จึงได้กดไปที่ข้อความที่ผู้ใช้บัญชีชื่อรายหนึ่ง ส่งไว้โดยหากมีผู้สนใจให้กดไปที่ลิงค์บัญชีไลน์ที่ส่งมา

และเมื่อผู้กล่าวหากดเพิ่มเพื่อนบัญชีดังกล่าว ก็ปรากฏบัญชีไลน์โดยบัญชีดังกล่าวได้แนะนำขั้นตอนการทำงานให้ผู้กล่าวหา และให้ทดลองทำผ่านเว็บไซต์ปลอม

โดยต้องทำทั้งหมด 52 ภารกิจ จึงจะสามารถถอนได้ ซึ่งผู้กล่าวหาได้ทำงานแบบต่อเนื่องไม่ได้แจ้งถอน ผู้กล่าวหาจึงได้ทำรายการโดยการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของตนเอง ไปยังบัญชี ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี นายธีรภัทร์ ที่คนร้ายส่งมาให้ รวมจำนวน 16 ครั้งรวมเป็นเงินจำนวน 717,914 บาท

 โดยในระหว่างที่ทำภารกิจนั้นผู้กล่าวหามีความกังวลว่ายอดเงินที่โอนเข้าไปนั้นเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผู้กล่าวหาจึงได้สอบถามไปในกลุ่มโอเพนแชทแต่ก็มีบุคคลซึ่งผู้กล่าวหาไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใดเข้ามาตอบข้อความว่ามีปัญหาคล้ายกับผู้กล่าวหา แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆจนครบ ก็สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้กล่าวหาจึงได้ตัดสินใจที่จะทำงานต่อจนกระทั่งผู้กล่าวหาทำภารกิจจบกับการโอนเงินในในครั้งที่ 15

ผู้กล่าวหาจึงจะถอนเงิน แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าระบบปิดไม่สามารถถอนออกมาได้ ให้รอวันรุ่งขึ้น และผู้กล่าวหาก็ได้มีการโทรไปยังหมายเลข ของธนาคารกสิกรไทยเพื่อแจ้งเรื่องขออายัดบัญชีธนาคารปลายทาง เนื่องจากผู้กล่าวหาเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติแล้ว

จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ช่วงเช้า ผู้กล่าวหายังมีความหวังจะได้เงินคืน จึงได้พูดคุยกับคนร้ายและคนร้ายได้ให้ผู้กล่าวหาโอนเงินอีกครั้ง เพื่อให้ค่าคอมมิชชั่นกับแอดมินที่แนะนำผู้กล่าวหาโอนเงิน จำนวน 38,114 บาท ไปยังบัญชี ธนาคารทหารไทยธนชาต ชื่อบัญชี นายธีรภัทร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 08.25 น.

และเนื่องจากผู้กล่าวหาสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของขั้นตอน และเมื่อผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบโดยละเอียดแล้วจึงเชื่อว่าการทำงานดังกล่าวไม่มีอยู่จริงและเชื่อว่าได้ถูกคนร้ายหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้กล่าวหาเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจึงเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์และมอบคดีต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคนร้ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

หลังจากถูกจับกุมผู้ต้องหาให้การว่า ตนขอปฏิเสธข้อหาในหมายจับตลอดข้อกล่าวหาตนไม่ได้ไปหลอกโอนเงิน 7แสนบาทใคร แต่รับสารภาพว่าตน เปิดบัญชีให้กับคนอื่นโดยได้รับค่าตอบแทน 300 บาทเท่านั้น

หลังจากที่ ผู้ต้องหาให้การวกวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบกับย่าของผู้ต้องหา ย่าของผู้ต้องหาให้การเพิ่มเติมกับเจ้าที่ตำรวจว่าหลานของตนเป็นคนเชื่อคนง่าย ข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้กับทางเจ้าที่ไม่เป็นความจริง ความจริงหลานของตนได้คบกับหญิงสาวหน้าตาดีซึ่งคาดว่าจะเป็น Facebook ปลอม หลอกให้หลานของตนหลงรักและ หลอกให้เปิดบัญชีธนาคารให้โดยส่งรูปบัตรประชาชนและทำการส่งเลข otp เบอร์มือถือ อีก ทั้งสแกนใบหน้าอีกด้วย

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ฝากเตือนภัย มิจฉาชีพลวงเหยื่อทำภารกิจออนไลน์ เสียหายหลักแสนหลักล้าน โดยมิจฉาชีพเหล่านี้จะทำการชวนเชื่อโฆษณาลงบนสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น รับสมัครงานออนไลน์ รับออร์เดอร์สินค้าต่างๆ

หรือการให้ทำภารกิจบนแอปพลิเคชันออนไลน์ จากนั้นมิจฉาชีพจะให้โหลดแอปพลิเคชัน และเพิ่มบัญชีเพื่อนในไลน์ แล้วจะมีแอดมิน คอยแนะนำวิธีการสร้างรายได้  ให้ทำ “ภารกิจ” โดยโอนเงินจำนวนหนึ่ง แล้วระบบจะโอนเงินคืนกลับมา

พร้อมให้กำไรเพิ่มจากเงินทุนเดิม เมื่อเหยื่อเห็นว่าได้เงินคืนจริง ก็จะหลงเชื่อและเพิ่มเงินลงทุนทำภารกิจต่อเนื่อง เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงินจากการทำภารกิจ แอดมินจะเริ่มบ่ายเบี่ยง อ้างว่าทำภารกิจช้าเกินเวลาที่กำหนด และผู้เสียหายจะต้องหาเงินมาเพิ่มเพื่อจะปลดล็อคทำภารกิจต่อ ถึงจะถอนเงินคืนได้ วิธีป้องกัน และข้อสังเกต อย่าหลงเชื่อลงทุน ตามคำชวนหรือโฆษณาในโซเชียลมีเดีย

ควรศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ ว่าเป็นบริษัท หรือบุคคลที่มีตัวตน ไม่มีเจตนาหลอกลวง ควรสังเกตสัญญาณกลโกงจากข้อเสนอการลงทุน ที่มีลักษณะให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง มีการรับประกันผลตอบแทน หรือเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน