DSI รับ 'ดิไอคอน' เป็นคดีพิเศษ หลักฐานชี้เข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

DSI รับ 'ดิไอคอน' เป็นคดีพิเศษ หลักฐานชี้เข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

ดีเอสไอ รับ "ดิไอคอน" เป็นคดีพิเศษ พยานหลักฐานชี้ผิดเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่ มั่นใจออกหมายจับผู้ต้องหาล็อตสอง ทันกำหนดฝากขัง 18 บอส

วันนี้ (29 ต.ค.67) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดี ดีเอสไอ ในฐานะประธานกลั่นกรองการรับคดีพิเศษ ได้เชิญผู้แทนกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ตำรวจสอบสวนกลาง ชุดทำคดีดิไอคอนกรุ๊ป มาหารือร่วมเพื่อพิจารณาว่า เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 หรือไม่ หลังตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปคบ.ได้ส่งมอบสำนวนคดีดิไอคอนกรุ๊ป ให้ดีเอสไอดำเนินการ

ร.ต.อ.วิษณุ เปิดเผยว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน ชัดเจนว่า เป็นความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แชร์ลูกโซ่ รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอยู่ในบัญชีท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการกลั่นกรองจึงมีมติเอกฉันท์ จะรีบเสนออธิบดีดีเอสไอ พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ในช่วงบ่ายวันนี้ 

DSI รับ \'ดิไอคอน\' เป็นคดีพิเศษ หลักฐานชี้เข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

โดยพยานหลักฐานที่นำมาสู่มติดังกล่าว คือ ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ที่ตำรวจสอบสวนกลางนำมาให้ ทั้งแผนประทุษกรรม, แผนการตลาดจากคอมพิวเตอร์, งบการเงิน, รวมถึงพยานหลักฐานอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยสำนวนที่รับมาจากตำรวจ ที่จะเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาบ่ายนี้ จะแยกเป็นอีกคดี คนละส่วนกับคดีฟอกเงิน ที่ดีเอสไอรับดำเนินการก่อนหน้านี้ เพราะถือว่าเป็นเหตุการณ์ต่างกรรมกัน 

คดีนี้จะไม่ใช่การนับหนึ่งใหม่ แต่นับก้าวไปเลย เป็นการทำงานร่วมกันกับตำรวจสอบสวนกลาง ในลักษณะการบูรณาการ หลังรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ตำรวจยังสามารถมาสอบปากคำร่วมได้ 

ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า ส่วนจะต้องสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มหรือไม่ จะมีการประชุม และพิจารณากันว่า ส่วนไหนที่ตำรวจสอบสวนกลางยังอยากทำ และตอนนี้ยังช่วยกันทำ ส่วนตัวชื่นชมเรื่องของการออกหมายจับ ที่ตำรวจสอบสวนกลางทำได้รวดเร็ว เป็นการป้องกันการทำลายเป็นหลักฐาน เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวแล้ว ทางดีเอสไอก็สามารถพิจารณาพยานหลักฐานอื่นๆ หากไปถึงตรงไหนจะมีการดำเนินการทันที 

ส่วนดีเอสไอจะออกหมายจับรวดเร็ว เหมือนตำรวจสอบสวนกลางหรือไม่ ร.ต.อ.วิษณุ ระบุว่า ต้องว่ากันตามพยานหลักฐาน ซึ่งการออกหมายจับผู้ต้องหาล็อตที่สอง ยืนยันว่า ทำให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และต้องทันก่อนฝากขังผลัดสุดท้ายของผู้ต้องหา ซึ่งหากเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จะฝากขังได้เพียง 4 ฝาก 

แต่ถ้าพิจารณาความผิดจนสามารถแจ้งข้อหาเพิ่มใน พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จะรวมแล้วได้ 7 ฝาก จากนี้จะเชิญอัยการสูงสุด มาเป็นที่ปรึกษาในคดี รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกด้านที่เกี่ยวข้อง มาดูเรื่องข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้คดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ส่วนที่ทนายบอสพอลบอกว่า จะส่งข้อมูลกลุ่มแม่ข่ายมาให้ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องมาดูว่ามีลักษณะอย่างไร และมีพฤติการณ์สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐาน ในคดีนี้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งอะไรที่ส่งมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ยินดี แต่เอกสารทั้งหมดต้องสอดรับกับพยานหลักฐานที่อ้าง และสอดรับกันทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าเป็นคนละทิศทางกัน

ส่วนนาฬิกาหรู ที่ทนายของบอสพอล บอกว่า เป็นของบอสออฟนั้น ขณะนี้ผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการยังไม่ออกมาว่า เป็นของแท้หรือของปลอม หากเป็นของแท้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้เสียหาย แต่หากเป็นของปลอม ก็เตรียมยึดของกลางในคดี เพราะมองได้ว่า อาจเป็นการใช้จัดฉากเพื่อหลอกลวงประชาชน ขณะที่รถหรูต่างๆ ที่ตำรวจสอบสวนกลางทยอยยึดไว้ก่อนหน้านี้ ก็มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งสุดท้ายจะต้องส่งไปให้ ปปง. ดำเนินการทั้งหมด 

ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้เสียหายมาแจ้งความเอาผิด กลุ่มผู้ต้องหา และเครือข่าย ในหลายข้อหา ทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ พ.ร.ก.แชร์ลูกโซ่ , ฉ้อโกงประชาชน ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหา ไปให้ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับผู้ต้องหาทุกคน ในความผิดข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีหลักฐานเพียงพอ

DSI รับ \'ดิไอคอน\' เป็นคดีพิเศษ หลักฐานชี้เข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่

หลังจากจับกุมผู้ต้องหา ได้ทำการสอบปากคำ และปรากฏหลักฐานข้อมูลเส้นทางการเงิน งบการเงิน รูปแบบการตลาด การเสียภาษี พบว่า มีรูปแบบพฤติการณ์เสนอผลตอบแทนสร้างภาพลักษณ์ภูมิฐาน  ชักจูงให้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของ พ.ร.ก.แชร์ลูกโซ่ นำมาสู่การโอนคดีให้ดีเอสไอ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการโยนคดี แต่เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ 

ยัน "อัจฉริยะ" ไม่ได้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง 

พล.ต.ต.สุวัฒน์ ยังตอบคำถามกรณีที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าพบ นายจิระวัฒน์ แสงภักดี "โค้ชแลป" ภายในห้องพนักงานสอบสวนของเรือนจำฯ ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง ว่า เบื้องต้นตำรวจที่เข้าไป ไม่ใช่พนักงานฝ่ายสอบสวน คาดว่าน่าจะเป็นชุดสืบสวน เท่าที่ทราบ มีญาติของผู้ถูกกล่าวหาติดต่อมาว่า มีประเด็นที่จะให้กับตำรวจที่เป็นประโยชน์ ขอให้ตำรวจเข้าไปฟังหน่อย ฝ่ายสืบสวนก็คงจะเข้าไป แต่พอเข้าไปแล้ว อาจจะไม่มีประเด็นสำคัญอะไรที่ใหม่ ก็เลยไม่ได้สอบปากคำอะไรกัน 

ส่วนที่นายอัจฉริยะ เข้าไปด้วยนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด และวันดังกล่าวมีการเปิดให้เยี่ยมญาติด้วย ทั้งนี้หากไม่ใช่การสอบสวน เป็นการเข้าไปหาข้อเท็จจริง ก็คงจะเข้าไปได้ และวันนั้นตำรวจไม่ได้เข้าไปซักปากคำในคดี 

เมื่อถามว่า กรณีที่ตำรวจสอบสวนกลางทำหนังสือถึง ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยใส่ชื่อนายอัจฉริยะ เข้าไปเป็นบุคคลที่ 3 ด้วยนั้น พล.ต.ต.สุวัฒน์ ระบุว่า ตนไม่ทราบ และยังไม่เคยเห็นเอกสารฉบับนี้ 

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า การเข้าไปของนายอัจฉริยะ สืบเนื่องจากการที่ตำรวจ ปคบ.ไปรีดทรัพย์ของโค้ชแลป จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ออกหมายจับ แล้วประสานทางภรรยาโค้ชแลป และอัจฉริยะ เพื่อให้เข้าไปในเรือนจำนั้น ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ ระบุว่า ‘ไม่เคยได้ยินข้อเท็จจริงเรื่องนี้’ แต่จะมีทีมที่ตรวจสอบ และชี้แจงในภายหลัง แต่ยืนยันว่า นายอัจฉริยะ ไม่ได้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์