การค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ” ระหว่างวันที่ ๔ - ๕ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจาค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวทางที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ผู้เข้าร่วมประชุมมีผู้แทนจากองค์การค้าโลก องค์การอนามัยโลก กระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วันสุดท้ายของการประชุม มีประเด็นของแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเสริมพลังระหว่างนโยบายการค้าและสุขภาพ และประเด็นพลังของหลักฐานในการทำให้เกิดความสอดคล้องระหว่างนโยบายการค้าและสุขภาพ ซึ่งมีการเสนอต่อวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมว่า
‘ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ (สุรา ยาสูบ อาหารแปรรูป และพลังงานจากฟอสซิล) เป็นอุปสรรคสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ
และมีการขับเคลื่อนในองค์การสหประชาชาติให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้หลักการ “ผู้ก่อความเสียหาย ต้องชดใช้” เนื่องจาก บริษัทข้ามชาติทั้ง ๔ ประเภท ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ แต่เหตุใดจึงไม่มีการกล่าวถึง ‘ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ในการประชุม
บริษัทข้ามชาติ ๔ ประเภท ถูกบ่งชี้ว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตถึงหนึ่งในสามของประชากรโลกที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อ องค์การสหประชาชาติสรุปเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อว่า องค์กรธุรกิจเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคไม่ติดต่อ
และการศึกษาภาระโรคระดับโลกเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๙ บ่งชี้ว่าบริษัทข้ามชาติ ๔ ประเภทดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ๑๙ ล้านคนต่อปี (หรือร้อยละ ๔๑ จากการเสียชีวิต ๔๒ ล้านคนจากโรคไม่ติดต่อ)
การวิเคราะห์เชิงลึกถึงพฤติกรรมองค์การ และแนวทางปฏิบัติของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ บ่งชี้ว่ามีการแทรกแซงนโยบายและครอบงำเพื่อโน้มน้าวผู้กำหนดนโยบายให้เอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ส่งผลให้นโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ด้อยประสิทธิผลและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และสังคม
ก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส-๑๙ กรอบการเจรจาการค้าเสรีเน้นเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลมากกว่ากฎ ระเบียบและมาตรการในการควบคุมโดยภาครัฐ เพื่อไม่ให้ภาครัฐกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมภาคธุรกิจ
หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส-๑๙ มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการวางกรอบมาตรฐานและควบคุมการตลาดโดยภาครัฐ เพื่อควบคุมโครงสร้างอำนาจของภาคธุรกิจ และลดอันตรายจากพลังอำนาจทางธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมความเป็นอยู่ทางสังคมให้ดีขึ้น
โดยมุ่งเน้นความก้าวหน้าทางสังคมด้วยเศรษฐกิจแนวใหม่ เช่น การนำเศรษฐกิจกลับสู่ความสมดุลของโลก (degrowth) ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อชีวิตที่รุ่งเรือง ยืนยาว และสุขภาพดีของผู้คน
และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ หรือ เศรษฐกิจโดนัท (Doughnuts Economics) ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ปกป้องความยุติธรรมทางสังคมและความคุ้มครองทางนิเวศวิทยา โดยไม่คำนึงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเติบโต ถดถอย หรือคงที่
กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก ไม่ต่างไปจากกลยุทธ์ของบริษัทยาสูบข้ามชาติในการขาย “สารเสพติด” การคุกคามสุขภาพประชากรโลกโดยบริษัทยาสูบข้ามชาติเป็นที่รับรู้และเข้าใจในระดับโลกโดยชุมชนผู้กำหนดนโยบาย และประชากรโลก
ทำให้ “ภาพลักษณ์” ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกเปิดโปงถึงการลงทุนเพื่อ “การออกแบบนโยบาย” ให้สอดรับกับเป้าหมายของการพาณิชย์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก
ที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้แนวทางผ่านกลไกการตกลงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติเพื่อส่งเสริมแนวคิดการตลาดเสรีและลดกฎ นโยบาย เงื่อนไข ต่างๆ ส่งผลให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ขององค์กรธุรกิจในการสร้างผลกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ
นักวิชาชีพด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถเพิ่มพลังในการโน้มน้าวนโยบายด้านการค้าและการลงทุนโดยการสร้างเสริมขีดความสามารถให้เกิดความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมาจากนโยบาย รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการเจรจานโยบายดังกล่าว
ดังที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในด้านธรรมาภิบาลของนโยบายทางการค้า ด้วยการเชื่อมประสานระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสร้างขีดความสามารถให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ รวมถึงผู้ชี้แนะทางสังคม และด้วยการเลือกประเด็นสุขภาพที่สอดคล้องกับแนวคิดของผู้กำหนดนโยบายที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
หลักการสำคัญในการปกป้องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากอิทธิพลและพลังอำนาจทางธุรกิจคือ การห้ามไม่ให้องค์กรธุรกิจที่มีผลประโยชน์ขัดกับนโยบายสาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบาย รวมทั้งเพิ่มมาตรการของความโปร่งใส
ด้วยการบังคับให้องค์กรธุรกิจและเครือข่ายเปิดเผยงบประมาณและรายงานกิจกรรมในการล้อบบี้ผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งงบประมาณสำหรับการวิจัย
ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗ จะมีการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ ๔ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งผู้เขียนบทความนี้ ได้ส่งข้อมูลรายละเอียดของนักวิชาการระดับโลกไปให้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้พิจารณาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
จึงหวังว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จาก ‘ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ’.