นิวเคลียร์และ รางวัลโนเบลสันติภาพ 2024

นิวเคลียร์และ รางวัลโนเบลสันติภาพ 2024

ในปี 2024 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้แก่ Nihon Hidankyo องค์กรญี่ปุ่นที่จัดตั้งโดยผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อปี 1945 เป็นรางวัลสำหรับการต่อสู้อันยาวนานตั้งแต่ปี 1956 โดยต่อต้านการใช้สงครามนิวเคลียร์และมีผลงานที่น่าประทับใจ

การให้รางวัลครั้งนี้เตือนใจให้นึกถึงข้อเท็จจริงหลายประการของเหตุการณ์ครั้งนั้น

คนญี่ปุ่นเรียกผู้รอดชีวิตว่า Hibakusha ซึ่งเป็น “คนพิเศษ” อย่างแท้จริง เพราะเป็นพยานในเหตุการณ์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในที่ใดเลยนอกจากญี่ปุ่น ก

ารให้รางวัลครั้งนี้สอดคล้องกับความกังวลของชาวโลกในปัจจุบันในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้ง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นหลายแห่งในโลก

งานหลักของ Nihon Hidankyo ได้แก่

(ก) เผยแพร่คำให้การผ่านการสื่อสารสู่สาธารณะ ร่วมมือกับโรงเรียนและองค์กรต่างๆ ในการสร้างการตระหนักถึงผลกระทบต่อมนุษย์จากระเบิดนิวเคลียร์

(ข) ผลักดันนโยบายลดอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนสนธิสัญญาต่างๆ ของ UN เพื่อขจัดอาวุธลักษณะนี้

(ค) ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตโดยดูเเลเเละติดตามความเจ็บป่วยในระยะสั้นและยาว

(ง) ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสูญไปของอาวุธร้ายแรงนี้ในโลก ซึ่งงานในส่วนนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการปลุกเร้าการเคลื่อนไหวในเรื่องสันติภาพในประเทศต่างๆ

เป็นความโชคดีของโลกที่นับเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้วที่ยังไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำลายล้างกันอีกเลย

กระแสความคิดในเรื่อง Mutual Destruction ที่ผู้ริเริ่มใช้อาวุธก่อนจะถูกโต้ตอบกลับจนถูกทำลายล้างร่วมกันในที่สุด มีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งเเละสร้างการตื่นตัวในการต่อต้านอาวุธที่เลวร้ายเช่นนี้ในประเทศต่างๆ

มีข้อมูลน่าสนใจที่ขอรวบรวมมาให้สะท้อนคิดหลายเรื่องทั้งเก่าและใหม่ดังต่อไปนี้

(1) เหตุผลสำคัญที่มีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ก็เพราะฝ่ายพันธมิตรต้องการให้สงครามจบสิ้นลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่เยอรมันยอมแพ้ไปแล้วเมื่อ 7 พ.ค.1945 และญี่ปุ่นต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ สักที เชื่อว่าระเบิดอันน่าตกใจในด้านความรุนแรงจะมีผลด้านจิตวิทยาให้ยอมแพ้ทันที 

(2) ระเบิดทำให้สามารถหลีกเลี่ยงแผนการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่บนดินแดนญี่ปุ่นของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเสียชีวิตของทหารฝ่ายพันธมิตรนับแสนคน และของฝ่ายญี่ปุ่นทั้งทหารและพลเรือนอีกเป็นจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน

 การรบอย่างกล้าหาญก่อนหน้าของชาวเกาะโอกินาวา (ชื่อเดิมที่คนไทยรู้จักคือเกาะริวกิว) ในช่วง เม.ย.-มิ.ย.1945 ทำให้ทหารญี่ปุ่นตายไป 100,000 คน และพลเรือนอีกนับหมื่นๆ คน ทหารอเมริกันตาย 12,000 คน

เป็นสิ่งยืนยันว่าหากมีการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่จะทำให้มีการสูญเสียอีกอย่างมหาศาล

(3) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตตอนท้ายสงคราม ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อในระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ผลักดันให้การแสดงอานุภาพของสงครามนิวเคลียร์จะทำให้สามารถหยุดยั้งอำนาจของสหภาพโซเวียตหลังสงครามได้เป็นอย่างดี

(4) เมื่อระเบิดลูกแรกถูกหย่อนลง ฮิโรชิมาในวันที่ 6 ส.ค.1945 ฆ่าคนทันที 70,000-80,000 คน และตายอีกมากจนในปลายปี 1945 คนตายทั้งหมด คือ 140,000 คน 

ทว่า ผู้นำญี่ปุ่นในโตเกียวยังงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่เข้าใจความรุนแรงและธรรมชาติของระเบิดนิวเคลียร์ (ถึงแม้จะมีการพูดกันมานานในหมู่ผู้นำญี่ปุ่นและนาซี เยอรมันแต่เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะสร้างได้สำเร็จ) ผู้นำทหารจึงส่งนักฟิสิกส์ไปสำรวจและวิเคราะห์จึงยืนยันว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์ 

(5) อีก 3 วันต่อมาคือ 9 ส.ค.1945 ระเบิดอีกลูกก็ลงนางาซากิ มีคนตายทันที 40,000 คน (ปลายปี 1945 คนตายทั้งหมดรวม 70,000 คน) ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับผู้ป่วยไข้และเสียชีวิตจากกัมมันตรังสีเป็นมะเร็ง และการเจ็บป่วยอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

หากนับรวมทั้งหมดที่ฮิโรชิมามีคนตายอีก 200,000 คนในระยะยาวส่วนที่นางาซากิมีตัวเลขคนตายในระยะยาวอีก 140,000 คน

ตัวเลขเหล่านี้ไม่นับความเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานของคนอีกนับหมื่นนับแสนคนที่เป็นครอบครัว เเละไม่ได้อยู่ที่สองเมืองนี้ตอนเกิดเหตุ

นอกจากนี้ยังไม่รวม “น้ำตา” ของ Hibakusha ที่มาจากความรังเกียจของสังคม หากสัมผัสเกรงจะรับเอากัมมันตรังสีไปด้วยและรังเกียจ “เผ่าพันธุ์” เพราะอาจเป็นพันธุกรรมที่เป็นปัญหาต่อลูกหลานในอนาคตหากยอมให้ญาติแต่งงานด้วย 

 (6) เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจก็คือช่วงเวลาจากวันที่ 6-9 และ 15 ส.ค.อันเป็นวันประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของจักรพรรดิญี่ปุ่นนั้น เป็นไปอย่างวุ่นวายจากความขัดเเย้งจนอาจนำไปสู่ระเบิดลูกที่ 3 ที่ฝ่ายอเมริกันเตรียมการอยู่แต่ยังไม่พร้อมก็เป็นได้

ข้อขัดแย้งก็คือการจะยอมแพ้หรือไม่ ทหารบกไม่ยอมเเพ้เเต่ฝ่ายทหารเรือโน้มเอียงไปทางนายกรัฐมนตรีให้ยอมแพ้ ประชุมกันนับเป็นสิบครั้งแต่ก็ตกลงกันไมได้ จนสุดท้ายจักรพรรดิทรงเเทรกเเซงตัดสินใจยอมแพ้และทรงอัดเสียงลงเทปเพื่อออกวิทยุ

ในคืนวันที่ 14 ส.ค.ก็เกิดความพยายามโค่นล้มอำนาจนายพันทหารบก Kenji Hatanaka ในหน่วยทหารรักษาพระองค์กับเพื่อน บุกเข้าไปในพระราชวัง โดยหวังว่าจะเข้าไปค้นหาเทปเสียงนั้นและทำลายเพื่อหน่วงเหนี่ยวเวลาให้มีการเปลี่ยนใจและสู้สงครามต่อ แต่หาไม่เจอ

ต่อมาเมื่อได้ยินเสียงประกาศยอมแพ้สงครามในเช้าวันรุ่งขึ้น เขายิงตัวตายทันทีบนถนน

มติมหาชนในโลกตะวันตกในยุคแรกชื่นชมกับการยุติสงครามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเบื่อหน่ายสงครามที่ดำเนินมากว่า 5 ปีแล้วเต็มที และคล้อยตามข้ออ้างว่าเป็นการช่วยไม่ให้มีคนเสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายมากไปกว่านี้

แต่ในยุคทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา โลกเริ่มฉุกคิดถึงการตายของพลเรือนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยจำนวนมาก ให้ความเห็นอกเห็นใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิต และต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น

จนอาจพูดได้ว่าในปัจจุบันมีคนเห็นด้วยน้อยมาก แต่ก็มิได้ทำให้หลายประเทศหยุดยั้งความพยายามในการมีอาวุธนิวเคลียร์ไม่

การกำจัดและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อโลกใบนี้และผู้อยู่อาศัย เป็นความรับผิดชอบร่วมของชาวโลกทุกคนที่ต้องช่วยกันในทุกทางไม่ว่าเล็กหรือน้อยก็ตาม 

ขอแสดงความยินดีกับ Nihon Hidankyo สำหรับรางวัลโนเบลและหวังว่ารางวัลนี้จะช่วยให้สามารถทำงานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น