ปมเหตุ 3 จังหวัดชายแดนใต้วิกฤตน้ำท่วมหนัก รับมือไม่ทัน สถานการณ์น้ำหนักสุด
ปมเหตุ 3 จังหวัดชายแดนใต้วิกฤตน้ำท่วมหนัก "น้ำท่วมภาคใต้" รับมือไม่ทัน สถานการณ์น้ำท่วมหนักสุด นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ ขาดระบบเตือนภัย ฝนตกหนัก ไม่สามารถเตือนประชาชนให้อพยพได้ เผย ศูนย์วิจัยภัยพิบัติภาคใต้ ของบติดระบบมาตรวัด เตือนภัยลุ่มน้ำปัตตานี แต่ไม่ถูกพิจารณา
ไขคำตอบสถานการณ์น้ำท่วมหนักสุดรอบหลายปี! เปิดปมเหตุ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วิกฤตน้ำท่วมหนัก "น้ำท่วมภาคใต้" รับมือไม่ทัน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ขาดระบบเตือนภัย เจอฝนตกหนัก ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพได้ทัน เผย ศูนย์วิจัยภัยพิบัติภาคใต้ เคยของบติดระบบมาตรวัด-เตือนภัยลุ่มน้ำปัตตานี แต่ไม่ถูกพิจารณา
นายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่เกิดความเสียหายอย่างมาก
หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการขาดกลไกการเตือนภัยที่แม่นยำและครอบคลุม และที่สำคัญคือไม่มีการบริหารความเสี่ยงและลดความเสี่ยงภัยพิบัติในยามปรกติ โดยเฉพาะไม่ได้มีการทำแบบจำลองน้ำท่วมของแม่น้ำ 4 สายหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน
ซึ่งทำให้ไม่สามารถคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงได้ และเมื่อไม่รู้ความเสี่ยงและขาดกลไกเตือนภัย ทำให้เมื่อเวลาฝนตกหนักจึงไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพ หรือตั้งรับเพื่อบรรเทาความเสียหายได้
โดยก่อนหน้านี้ทราบมาว่าทางศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ในสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการส่งข้อเสนอของบประมาณการวิจัยเพื่อติดตั้งระบบมาตรวัด และระบบเตือนภัยลุ่มน้ำปัตตานีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
นายณัฐสิฏ กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เพียงพื้นที่เดียวที่มีโมเดลการจำลองน้ำท่วมและการไหลของน้ำ ที่สามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อฝนตก พื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และมีกลไกการเฝ้าระวังความเสี่ยงน้ำท่วม ที่มักเรียกกันว่า “หาดใหญ่โมเดล”
ซี่งประกอบไปด้วยหน่วยงานสองหน่วยหลัก คือ
1. ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ อยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำหน้าที่ด้านวิชาการเป็นหลัก ซึ่งรวมไปถึงแบบจำลองต่างๆ
2. ชุดปฏิบัติการฯ[1] ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รวบรวมตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ ประสานงานหน่วยราชการ และเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
กลไก “หาดใหญ่โมเดล” นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวเป็นกลไกที่ถูกตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับชัดเจน และชุดปฏิบัติการฯ ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับจิตอาสา ทำให้ค่อนข้างที่จะมีความเปราะบางในด้านความต่อเนื่อง
อีกทั้งในพื้นที่มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งต่อข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจรับผิดชอบ
ปรับใช้ “หาดใหญ่โมเดล” กับพื้นที่เสี่ยงอื่นในภาคใต้ จี้ รัฐสนับสนุนงบประมาณ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ พร้อมเร่งเยียวยา – เตรียมตัวรับมือฝนถล่มต้นเดือนหน้า
มีคำถามว่าเรามีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งมากแต่ทำไมเราถึงยังตั้งรับเพื่อบรรเทาความเสียหายไม่ได้สักที เป็นเราขาดการการบริหารความเสี่ยงและลดความเสี่ยงในยามปรกติ
ทำให้เมื่อถึงเวลาเกิดเหตุจริง มันไม่มีทางเลือกในการการรับมือหรือลดความเสียหายมากนัก สิ่งที่ทำได้มีแค่การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ซึ่งพอเกิดเหตุทุกทั้งก็จะเป็นแบบนี้ คือทำได้แค่ช่วยเหลือเยียวยา แต่ไม่สามารถลดความเสียหายได้
นอกจากนั้นยังขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น แบบจำลองน้ำท่วม ควรจะมีการทำทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะได้สามารถประเมินและบริหารความเสี่ยงได้
แต่ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มีงบประมาณที่จำกัดอย่างถึงที่สุด จึงทำให้สามารถสร้างแบบจำลองได้เฉพาะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เท่านั้น ไม่ครอบคลุมแม้แต่อำเภอหาดใหญ่
ฉะนั้น หากจะรับมือน้ำท่วมได้ดีกว่านี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องให้งบประมาณในการสนับสนุนศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ ให้เต็มที่
น้ำท่วมครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ครั้งใหญ่ และหากมีการสนับสนุนอย่างถูกต้อง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดกลไกแบบ หาดใหญ่โมเดลในพื้นที่อื่น เช่น ปัตตานี ยะลาได้ ฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตไปแล้ว อย่าให้เสียเปล่า” นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ
นายณัฐสิฏ มีข้อเสนอแนะในระยะเร่งด่วนว่า ภาครัฐควรเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับฝนที่คาดกันว่าจะตกหนักอีกในช่วงต้นเดือนธันวาคม
โดยเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคให้ประชาชน รวมทั้งรถ และเรือไว้ใช้ในการอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ในระยะต่อไปปีงบประมาณหน้า รัฐบาลต้องเพิ่มทรัพยากรให้กับศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ เพื่อทำแบบจำลองให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น
ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ รับผลกระทบจากความเสี่ยงโลกรวนมากที่สุด เปิด 3 ปัจจัยทำไทยท่วมซ้ำซาก
อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นเรื่องการรับมือภัยพิบัติ และการจัดการวิกฤตภัยธรรมชาตินั้น ก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมานำเสนอในการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท
โดยภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเหตุอุทกภัยซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 พันคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จนก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลมี 3 สาเหตุ คือ
- การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน รวมทั้งขาดการป้องกันและเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะระบบเตือนสาธารณภัยของไทย
- ขาดการวางแผนและจัดลำดับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งที่การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความคุ้มค่าสูง มีผลตอบแทน 9 เท่า
ดร.เสาวรัจ ชี้ให้เห็น ว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ คือการที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐมีขีดความสามารถที่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งขาดการบูรณาการในการทำงาน และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามไทยสามารถนำบทเรียนความสำเร็จของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศได้
แนะ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ออก กฎหมายเปิดทางตั้งผู้ว่าฯซูเปอร์ซีอีโอ – ผู้บัญชาการลุ่มน้ำ
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการรับมือภัยพิบัติมีดังนี้
1. ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
2. เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
3. ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้อำนาจตามกฎหมาย และอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออกพ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี “ผู้ว่าซูเปอร์ซีอีโอ” และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ เพื่อให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
4. แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมไป พร้อมกับการทยอยแก้ไขปัญหาจากการใช้ที่ดินผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
อ้างอิง-ภาพ : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) , เทศบาลนครยะลา Yalacity , เทศบาลนครหาดใหญ่