รู้เท่าทัน “ตบทรัพย์ -กรรโชกทรัพย์ - รีดเอาทรัพย์” ผ่านอาชญาวิทยา
สำหรับท่านผู้อ่านที่เคยผ่านชีวิตรั้วโรงเรียนระดับมัธยมศึกษามา บางท่านอาจมีประสบการถูก “ตบทรัพย์ - กรรโชกทรัพย์ – รีดเอาทรัพย์” มาแล้ว
แต่ด้วยวัยสิบขวบกลาง ๆ นั้นอาจจะยังไม่ทราบว่า การกระทำของรุ่นพี่ที่มาขอเงินทุกครั้งเวลาที่เข้าห้องน้ำ ด้วยเหตุผลว่าลืมเอาเงินมา หรือไม่มีเงินไปจ่ายค่าปรับจราจรก็สุดแล้วแต่ รวมไปถึงการที่ถูกเพื่อนแอบอัดคลิปตอนที่เราโดนแกล้ง จนทำให้ต้องยอมผันตนไปเป็นลูกไล่ เพียงเพราะไม่อยากให้คลิปนี้หลุดไปถึงกลุ่มเพื่อนคนอื่น ๆ
ใช่ครับ เหล่านี้ คือ “ความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ ในลักษณะ 12 หมวด 2” ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับมากว่า 100 ปี แต่เหตุใดการกระทำความผิดฐานนี้จึงกลับเป็นปัญหาสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น
และเราจะรู้เท่าทันความผิดผ่านแนวคิดทาง “อาชญาวิทยา” ได้อย่างไร
เหตุอันเป็นตัวกระตุ้นหรือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ความผิดฐานนี้ขยายวงกว้างในสังคมไทยตามหลักการทาง “อาชญาวิทยา” ประกอบด้วย 4 เหตุหลัก ๆ คือ
1) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด : เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของสัตว์สังคมอย่างเรา ๆ เนื่องจากเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปเพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ใช้ในมุมกลับก็เป็นโทษแก่ผู้ใช้เช่นกัน
“สมาร์ทโฟน” ที่สามารถทำได้ทุกอย่างแถมยังพกพาง่าย ย่อมเป็นเครื่องมือชั้นดีหากมีใครจะใช้ในการอัดคลิปเสียง ภาพ เพื่อนำไฟล์ข้อมูลไปข่มขู่ผู้เสียหายสักคน อีกทั้งยากต่อการระมัดระวัง
เมื่อประกอบรวมกับระบบ “โซเชียลแพลตฟอร์มออนไลน์” ที่แค่คลิกเดียวไฟล์ดังกล่าวก็จะกลายเป็น “ดิจิทัลฟุตปริ้น” ทิ่มแทงผู้เสียหายตลอดไป เช่นนี้แล้วไม่ง่ายเลยที่เราจะเท่าทันผู้ร้ายภายใต้คำว่า “นวัตกรรม”
2) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม : ประเด็นนี้อาจไม่ใช่ความแตกต่างทางเศรษฐกิจในสังคมเสียทีเดียว แต่มุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างทางสถาณภาพทางสังคมหรือชนชั้นที่สามารถให้คุณให้โทษกับกลุ่มทางสังคมอื่นได้
ส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปแบบของกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ตาม
ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างตอนต้น “กลุ่มรุ่นพี่ดาวไถ” คนกลุ่มนี้อาจจะไม่มีความเดือดร้อนทางการเงินตามที่ได้กล่าวอ้างเพื่อกรรโชกเงินเรา แต่สิ่งที่มีคือ “อำนาจ” ในลักษณะกลุ่มชนชั้นที่มีความอาวุโสมากกว่า
เช่นเดียวกัน คดีตามหน้าสื่อปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น “ดิไอคอนกรุ๊ป” “เจ๊พัช” “ทนายดังต่างๆ” รวมไปถึงกรณี “พี่ศรีและกลุ่มเพื่อน ๆ นักร้องชื่อดังของวงการความยุติธรรม”
กลุ่มบุคคลเหล่านี้ใช้ความน่าเชื่อถือจากสถานภาพบางอย่างที่ตนมีเหนือ “ผู้เสียหาย” ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของอินฟูลเอนเซอร์ ประสบการณ์การทำงาน ตำแหน่งหน้าที่การงาน และรวมไปถึงภาพลักษณ์ที่ดีในมุมมองของคนหมู่มาก นำมา “กล่าวอ้าง” ผ่านการข่มขืนใจไปในที
โดยใช้กระบวนการบางอย่างบีบบังคับ เช่น การไปยื่นคำร้องต่อผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม หรือรู้จักกับผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบดูแลคดี
ซึ่งการกระทำเหล่านี้ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น แม้ว่าความลับอันเป็นเหตุที่นำมาข่มขู่นั้นจะเป็นเรื่องจริงที่ผิดกฎหมายก็ตาม
3) อัตราโทษตามกฎหมาย : ประเด็นนี้คือมูลเหตุจูงใจที่สามารถกระตุ้นพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดได้โดยตรง เนื่องเมื่อพิจารณา มาตรา 337 และมาตรา 338 ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดฐาน “กรรโชกทรัพย์ และรีดเอาทรัพย์”
จะเห็นว่าการข่มขืนใจเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวกับการ “ขู่ฆ่า” “ขู่ทำร้ายร่างกายให้ได้รับอันตรายสาหัส” “ขู่ว่าจะวางเพลิง” หรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ เช่นนี้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่านั้น
กล่าวคือ ศาลอาจมี คำพิพากษาจำคุกที่น้อยกว่าห้าปีลงไปเท่าใดก็ได้ หากเป็นการกระทำที่ขู่เข็ญที่มีเหตุร้ายแรงอย่างที่ได้กล่าวมาก่อนหน้าระวางโทษจะอยู่ที่จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี สูงกว่าความผิดกรรโชกอันเป็นบทพื้นฐานเล็กน้อยโดยการกำหนดโทษขั้นต่ำเพิ่มเข้ามาเป็นหกเดือน
ในกรณี “รีดเอาทรัพย์” เมื่อเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการขู่จะเปิดเผยความลับของผู้อื่นโดยไม่ชอบ กฎหมายระวางโทษจำคุกไว้ที่หนึ่งปีถึงสิบปี
แม้อัตราโทษจำคุกจะมีระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นตามฐานความผิดอันส่งผลกระทบต่อผู้เสียหาย แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดจะได้มาจากการกระทำดังกล่าวก็อาจสามารถพูดได้ว่า “ได้คุ้มเสีย” ด้วยเหตุที่ประกอบร่วมด้วยในข้อถัดไป
4) ความอับอายในการดำเนินคดีของผู้เสียหาย : ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งทำให้การกระทำความผิดประเภทนี้ “เบ่งบาน” ในสังคมไทย
ด้วยเหตุที่ว่าผู้เสียหายก็ไม่อยากเปิดเผยตัวเพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการด้วยความรู้สึกอับอายที่ต้องมาเป็น “คนโง่” ให้กลุ่มคนเหล่านี้ขู่เข็ญ หรือความลับที่ผู้กระทำผิดมีนั้นอาจจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ทางสังคมของผู้เสียหายมากกว่าที่จะยอมดำเนินคดี
รวมไปถึงความลับที่ตนได้กระทำด้วยความผิดต่อกฎหมาย หรือต่อศีลธรรมอันดีของสังคม กลายเป็นสถานการณ์จำยอมที่มีเพียง “ผู้กระทำความผิด” เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องกลัวการถูกลงโทษตามกฎหมาย
ดังนี้ การจะรู้เท่าทันการกระทำความผิดประเภทนี้ผู้อ่านต้องเข้าใจเสมอว่า “ความผิดเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของท่าน ผ่านการให้เสรีภาพในการดำเนินชีวิต”
หากมีบุคลหนึ่งบุคลใดมากล่าวอ้างสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ ต่อท่านเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ผ่านการบีบบังคับว่าจะดำเนินคดี หรือเอาความลับของท่านไปแฉ เหล่านี้ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น
แม้ท่านจะยอมจ่ายหรือไม่ก็ตามความผิดก็เป็นความผิดที่ต้องรับโทษตามกฎหมายแล้วในฐานะ “พยายามกระทำความผิด” มีระวางโทษคิดเป็นสองในสามตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมา
หลังจากอ่านบทความนี้หวังว่าทุกท่านจะมี “รู้เท่าทัน” สามารถที่จะรับมือและไม่ปล่อยให้กลุ่มคนจำพวกนี้มาหากินบนเสรีภาพของทุกท่านได้อีกนะครับ