ปัญญาชน ควรวิเคราะห์และปรับปรุงวิธีคิดของตนเองได้
คนไทยส่วนหนึ่งชอบคิดแบบเลือกข้าง สองขั้วแบบสุดโต่ง เช่นถ้าคิดไม่เหมือนพวกแดงก็ต้องเป็นพวกเหลือง การคิดแบบถ้าไม่ขาวก็ต้องดำ หรือแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง
นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าเป็นการคิดแบบบิดเบือนไปจากโลกความจริงประเภทหนึ่ง ที่มีผลเสียทั้งสำหรับตัวเองและสังคมโดยรวมได้
ที่ว่าบิดเบือน คือ คนคิดแบบนี้มองเห็นแต่ขั้วที่ตรงข้ามขั้วใดขั้วหนึ่งแบบสุดโต่ง เท่านั้น เช่น ฉันถูกทั้งหมด เธอผิดทั้งหมด, ดีทั้งหมด หรือเลวทั้งหมด, สมบูรณ์แบบ หรือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
พวกเขาไม่สามารถมองเห็นคุณสมบัติที่มีทั้งด้านบวกและลบ (จุดแข็ง/จุดอ่อน) ของตัวเองและคนอื่น ในโลกที่เป็นจริง มองไม่เห็นเฉดสีต่างๆ ซึ่งมีมากกว่าขาวหรือดำ มองไม่เห็น, ความเป็นไปได้,
ทางเลือกอื่นที่มีอยู่ในโลกที่เป็นจริง ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับว่า คนที่คิดไม่เหมือนเรานั้นจริงๆ แล้ว เขาอาจจะคิดต่างในบางเรื่อง ไม่ได้ต่างทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเขาอาจจะเห็นด้วยกันกับเราในเรื่องหลักการใหญ่บางเรื่อง แต่ไม่เห็นด้วยหรือกับวิธีการรายละเอียดบางเรื่อง
เราต้องมองเรื่องต่างๆ อย่างใจกว้างจำแนกแยกแยะจึงจะเห็นโลกที่เป็นจริง แต่คนที่ชอบคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง มักจะรีบสรุปอย่างง่ายๆ รวดเร็วไป จึงไม่อาจจะมองเห็นหรือเข้าใจเรื่องนี้ได้
การคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง สร้างปัญหาต่อตัวเองและคนอื่นในสังคมหลายข้อ เช่น
1. จำกัดมุมมองของเรา ทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกและโอกาสอื่นๆ ทั้งที่หลายเรื่องมีทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่า 2 ขั้ว ที่อาจจะดีเท่ากัน หรือดีกว่า เป็นประโยชน์กว่าขั้วใดขั้วหนึ่งด้วย
2. ทำให้เพิ่มความเครียด ความซึมเศร้า เพราะคนคิดแนวนี้มักมองว่า จะต้องได้ ควรจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นการสร้างความความคาดหวังที่สูง ที่จะนำไปสู่ความผิดหวัง ความเครียด ความซึมเศร้าได้ เพราะโลกจริงไม่ได้สมบูรณ์แบบ
เราไม่อาจได้ดั่งใจทุกอย่างที่เป็นการมองโลกแบบคับแคบ มองในทางลบ รู้สึกว่าตนไม่มีอำนาจที่จะจัดการกับชีวิต ไม่เข้าใจว่า แม้ว่าชีวิตจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ยังสามารถยอมรับ พอใจดำรงชีวิตในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างมีความสุข ในเชิงเปรียบเทียบได้
3. การมองอย่างเข้มงวดและสรุปอะไรง่ายเกินไป คิดว่าตัวเองถูก คนอื่นที่คิดต่างเป็นฝ่ายผิดเสมอ ขาดการมองอย่างประนีประนอม ทำให้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นและร่วมมือกับคนอื่นได้ยาก สร้างปัญหาขัดแย้งกับคู่ครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ได้ง่าย
เนื่องจากเราไปคาดหมายให้เขาคิดและเป็นเหมือนเรามากไป ไปตัดสินว่าเขาผิดไปทั้งหมดอย่างง่ายเกินไปในโลกจริงนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ คนแต่ละคนมีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และแต่ละคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างกันไป
4. การคิดว่าเรารู้ว่าเราถูกที่สุดแล้ว เหมือนกับการเสพติดโดยไม่รู้ตัว ทำให้เรามีข้อจำกัด ปรับตัว ต่อสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อยลง ติดกับดักแบบแผนความเชื่อ อุปนิสัยเก่า โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ หรือเรียนรู้ได้น้อย
ทำให้เราเจริญงอกงามทางความคิด สติปัญญาได้ยาก ตรงกันข้ามกับคนที่เปิดใจกว้าง ยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่างในโลก จะสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้มากกว่า
ปัญหานี้นอกจากจะมาจากพัฒนาการภูมิหลังของคนบางคนแล้ว คนที่คิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่งที่แสดงออกให้เห็นได้มากคือ พวกที่สนใจการเมือง ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ อย่างรุนแรงหมกมุ่น
เพราะเป็นเรื่องสัมพันธ์กับอำนาจด้วย ผู้นำทางการเมือง ศาสนา หรือนักโฆษณาสินค้า เป็นคนที่นิยมและหลายคนเก่งในการโน้มน้าว ชักจูงใจ ให้ประชาชนคิดอะไรสุดโต่งตามพวกเขาแบบง่ายๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้ครอบงำให้ประชาชนเชื่อตามพวกเขาได้ และทำให้เขามีพรรคพวกและมีอำนาจ
คนที่มีพัฒนาการที่มีแนวโน้มจะคิดแบบ 2 ขั้วอยู่แล้ว เมื่อได้รับอิทธิพลจากแกนนำประเภทนี้จึงกลายเป็นพวกคิดแบบสุดโต่งทางการเมือง หรือศาสนาความเชื่อได้ง่าย
ในกรณีของไทยตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ การคิดแบบเลือกข้างระหว่างกลุ่มนิยมทักษิณและกลุ่มต่อต้านทักษิณ (พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน) ที่มีกลุ่มที่คิด 2 ขั้วสุดโต่งทั้ง 2 ฝ่าย เช่น กลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าระบอบทักษิณเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ข้างคนจน ช่วยคนจน ต่อต้านชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่
ขณะที่อีกกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณบางส่วนเป็นพวกอุลตราโรแยลลิสต์ (นิยมกษัตริย์สุดโต่ง) ผู้มองว่าใครไม่แสดงออกซึ่งความนิยมกษัตริย์เหมือนพวกตน เป็นพวกที่คิด “ล้มเจ้า” ไม่ใช่คนไทย ซึ่งเป็นการคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามอย่างสุดโต่งที่ไม่ได้เป็นความจริงทั้ง 2 ฝ่าย
การเมืองเป็นเรื่องความสัมพันธ์กันซับซ้อนของหลายกลุ่มย่อยในสังคม และมีวิธีการต่อรอง วิธีดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ หลายวิธี หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การต้องเอาชนะกันของ 2 กลุ่ม ซึ่งอยู่สุดขั้วตรงข้ามกันเสมอไป
การคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง เช่น พวกนิยมลัทธินาซีในสมัยฮิตเลอร์ นำไปสู่สงคราม การล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง
ที่อ้างความเชื่อทางศาสนา ชาตินิยม เผ่าพันธุ์นิยม ฯลฯ นำไปสู่การก่อการร้ายและการทำสงคราม การโจมตีประท้วง ก่อการจลาจล ทำร้ายคนที่คิดแตกต่าง ฯลฯ
ในสังคมไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมเชิงโครงสร้างที่เป็นประเด็นใหญ่มาก จะแก้ได้ด้วยการช่วยกันคิดวิเคราะห์หาวิธีปฏิรูปความคิด พฤติกรรม ของคนไทยให้ใจกว้าง เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น
การจะหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของความเชื่อทางการเมืองแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่งได้ เป็นเรื่องที่ปัญญาชนผู้มีการศึกษาทั้งหลายจะต้องวิเคราะห์ตนเองและคนอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุที่มาของปัญหาซึ่งเป็นทั้ง
1) เรื่องจิตวิทยา จิตวิทยาสังคม เรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองที่เราประสบมา
2) เรื่องทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เข้าใจใหม่ว่าปัญหาใหญ่สุดคือ ประเด็นการกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ฐานะทางสังคม ฯลฯ ไปสู่คนทั้งประเทศอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงลง เราจะลดความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ได้มาก
เราต้องเข้าใจและแก้ไขที่สาเหตุทั้ง 2 ด้านอย่างแท้จริง จึงจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์หรือความสามัคคีในชาติและร่วมมือกันปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้อย่างยั่งยืนได้.