ความรู้แบบ ‘ปลดปล่อย’ ต่างจากความรู้แบบ ‘ครอบงำ’
ความรู้ที่จะแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศได้มี 2 ด้านที่สำคัญ คือ 1. สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การเมือง และ 2. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ
เรามักให้ความสำคัญกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเชิงเทคนิคด้านต่างๆ ที่จะทำให้มนุษย์ผลิตได้เพิ่มขึ้น มีสินค้าและบริการมาทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่นั่นเป็นความจริงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นทุนนิยมแบบบริวาร เราจึงนิยมซื้อ/เช่าความรู้เทคโนโลยีสำเร็จรูปจากบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมีทั้งข้อจำกัดและสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมามาก ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เป็นหนี้มากขึ้น ถูกกดดันจากบริษัทข้ามชาติให้ต้องใช้สินค้า เช่น เคมียาปราบศัตรูพืชที่มีฤทธิร้ายแรงทำลายทั้งสุขภาพ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลไทย (ทุกรัฐบาล) ถูกครอบงำในด้านความรู้จากประเทศตะวันตกที่พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมมากกว่า ให้เชื่อว่าไทยต้องใช้นโบายเปิดกว้างให้ต่างชาติมาลงทุนได้สะดวก เช่น ยกเว้นภาษี และหรือเก็บภาษีในอัตราต่ำ เศรษฐกิจไทยถึงจะเจริญเติบโต เพื่อไล่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมได้
แต่ความจริงแล้วคือความรู้แบบครอบงำนี้ไม่ใช่ความรู้ที่ไทยได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เศรษฐกิจไทยหรือการผลิตสินค้าบริหารบางอย่างอาจเติบโตแบบดูทันสมัย แต่ไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจสังคมหรือคุณภาพชีวิตเพื่อคนไทยส่วนใหญ่จริง นายทุน คนรวย คนชั้นกลางได้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบและยากจน การเมือง สังคม ขัดแย้ง วุ่นวาย ปั่นป่วน สร้างปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นตามมา
เราควรจะแสวงหาความรู้ที่ “ปลดปล่อย” ช่วยคนไทยส่วนใหญ่พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการมองเป้าหมายที่กว้างกว่าเรื่องธุรกิจและการทำให้เศรษฐกิจการผลิต การบริโภค การค้าขายโดยรวม เติบโต
นั่นคือ ต้องแสวงหาความรู้ เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม ระบบนิเวศที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่อย่างยั่งยืน
เศรษฐกิจเป็นเรื่องการรู้จักใช้แรงงาน ทรัพยากร เทคโนโลยี อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม คือคำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติ ต้นทุนทางสังคมด้วย และที่สำคัญคือเศรษฐกิจที่ดีต้องกระจายผลผลิตไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่จริง
เศรษฐกิจที่ดีควรเน้นเรื่องการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตมากกว่าเพื่อความเติบโตทางวัตถุ และควรเน้นการพัฒนาในแนวอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ให้สามารถอยู่ต่อแบบมีประโยชน์ได้ยั่งยืนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตมีความสำคัญอยู่ แต่เป้าหมายไม่ควรอยู่แค่ประสิทธิภาพของธุรกิจเท่านั้น ต้องเป็นประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม คือคำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนทางสังคมด้วย เช่น ไม่ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากไป
มองภาพใหญ่ระดับประเทศออกว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง จัดลำดับการผลิตสิ่งที่จำเป็น เป็นประโยชน์ ปฏิรูปการกระจายทรัพย์สิน รายได้ การมีงานทำอย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนบริโภคแบบพอเพียงกันอย่างทั่วถึง ช่วยเพิ่มรายได้ อำนาจซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้เพิ่มขึ้น สามารถลดสัดส่วนการพึ่งพาต่างประเทศลงได้
ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ความสมดุลของระบบธรรมชาติ เพื่อป้องกันปัญหาเช่นความแห้งแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติจากระบบธรรมชาติปัญหาสุขภาพอนามัย ฯลฯ
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ ที่คิดได้กว้างไกลกว่าเศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมกระแสหลัก เสนอว่าการผลิตต้องเน้นประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมมากกว่าประสิทธิภาพของหน่วยผลิต คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางธรรมชาติ ผลตอบแทนระยะยาว (ตระหนักถึงข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศต่างๆ ด้วย) (ไม่ใช่คิดแค่ต้นทุนกำไรของหน่วยธุรกิจ)
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ เสนอการผลิตและกระจายสินค้าที่จำเป็น อย่างเป็นธรรม เลือกสินค้าที่ผลิต วิธีการผลิต บริโภค ที่จะช่วยให้ระบบนิเวศมีขีดความสามารถที่จะรองรับของเสีย ฟื้นฟูทรัพยากรบางอย่างใหม่ได้ และพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลานเหลน
เราควรวิจัยและพัฒนาในเรื่องที่เชื่อมโยงและให้ประโยชน์เศรษฐกิจ สังคม เพื่อคนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาวจริง เช่น ควรวิจัยเรื่องอาหาร สมุนไพร ยา สาธารณสุขทางเลือก พลังงานทางเลือก (แสงอาทิตย์ กระแสลม กระแสน้ำ) ฯลฯ การพัฒนาในแนวทางเลือกเหล่านี้จะทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์มากขึ้นทั้งในแง่การเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ เพิ่มสุขภาวะให้ประชาชน
ตัวอย่างการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับไทยคือ ให้ความรู้ทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชน ในการรู้จักดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง ในเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและการสร้างภูมิคุ้มกัน การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงสารเสพติดต่างๆ
รัฐบาลห้ามใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ควบคุมเรื่องเหล้า บุหรี่ สารเสพติด อาหารหวาน เค็ม มัน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง นโยบายป้องกันแบบปลอดภัยไว้ก่อน จะลดหรือชะลอการเจ็บป่วยได้ และจะเป็นการลงทุนลงแรงที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการปล่อยปละให้คนไทยมีสุขภาพไม่ดี ป่วยกันจนแน่นโรงพยาบาลมากเกินไป
การส่งเสริมเกษตรกรขนาดเล็กและกลางที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์หรือไร้สารเคมี ให้ประโยชน์หลายทาง(ช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมฯลฯ) ที่ดีกว่าส่งเสริมเกษตรแบบเน้นการใช้สารเคมีและบริษัทเกษตรขนาดใหญ่
การส่งเสริมระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ให้บริการวิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ฯลฯ จะเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าส่งเสริมบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่
สรุปคือ เราควรมองเรื่องความรู้/ข้อมูลในเรื่องการพัฒนาประเทศอย่างวิพากษ์วิจารณ์และแสวงหาความรู้ที่ปลดปล่อยเป็นอิสระ เป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่ เน้นการพัฒนาคนเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาว
เพื่อประสิทธิภาพของส่วนรวม (รวมความโปร่งใสด้วย) เป็นธรรม ชีวิตที่มีคุณภาพ/ความหมาย และสังคมที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ อยู่ได้อย่างยั่งยืนไปจนถึงคนรุ่นหลัง.