‘ภณวัชร์นันท์’ เสนอดันเทคโนโลยี ดับ'ไฟป่า' สร้างมาตรฐานนวัตกรรม

‘ภณวัชร์นันท์’  เสนอดันเทคโนโลยี ดับ'ไฟป่า' สร้างมาตรฐานนวัตกรรม

‘ภณวัชร์นันท์’ นักประดิษฐ์นวัตกรรมระดับโลก ชี้เหตุไฟป่า หลายประเทศกีดกันไม่ให้สิ่งประดิษฐ์ที่ประชาชนคิดมาแข่งขัน ทำให้ยังมีเทคโนโลยีดั้งเดิมในการป้องกันไฟป่า แนะสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ร่างและสร้างมาตรฐานจากเทคโนโลยีที่คิดจากประชาชน

 นายภณวัชร์นันท์  ไกรมาตย์  นักประดิษฐ์ 6 เหรียญทองอัจฉริยะโลก และนักวิจัยดีเด่นและนวัตกรรมดีเด่นประจำปี 2560 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุไฟป่าทั้งในประเทศและต่างประเทศในขณะนี้ว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบเหตุไฟป่าทั้ง 2 กรณี ซึ่งถือว่า ความสูญเสียทั้งที่อยู่อาศัยทรัพย์สิน และสิ่งที่ชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการดำเนินฟื้นฟูเยียวยาพร้อมกับมีการแก้ไขและถอดบทเรียนกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อสังเกตว่า หลายประเทศที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม  มีเครื่องมือช่วยชีวิต เครื่องมือปกป้องภัยพิบัติ สาธารณะภัยต่างๆ มากมาย แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องมาจาก ประเทศเหล่านี้ ได้ทำร้ายประชาชนของตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยด้วยการสร้างมาตรฐาน วางกฎระเบียบ เพื่อผูกขาดธุรกิจ เป็นเกราะกำบังในการกีดกันทางการค้า เพื่อไม่ให้สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ประชาชนคิดเข้ามาเป็นคู่แข่ง เพราะเกรงจะต้องสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่จะมีพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวงต่างๆออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับสินค้าบางรายการที่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียร่วมกันและสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดในการกีดกันสินค้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าไม่ให้เข้ามาเป็นคู่แข่งขันกับสินค้ารายใหญ่ซึ่งครองตลาดส่วนใหญ่ในประเทศมาอย่างยาวนาน

“การผูกขาดอำนาจและจำกัดการแข่งขันของสินค้าดังกล่าวทำให้ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนายกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการใช้งานของสินค้าให้ดียิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ  ประชาชนจึงไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยเอาไว้ป้องกัน และไม่มีทางเลือกเพราะกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆจำกัดให้ประชาชนจะต้องเลือกเฉพาะสินค้าที่ถูกกำหนดไว้เป็นมาตรฐานภายในประเทศเท่านั้น  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานี้  สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่สร้างกฎระเบียบสวยหรูและกีดกันสินค้าเทคโนโลยีใหม่ จากต่างประเทศ  และผูกขาดกับสินค้าแบบเดิมๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นประชาชนไม่สามารถพึ่งพาหรือมีทางเลือกในการใช้สินค้าใหม่ ๆ ที่ดีกว่าได้จนก่อให้เกิดการเสียหายและสูญเสียเพียงเพราะกฎระเบียบ ล้าสมัยที่ผูกขาดกับสินค้าที่หยุดการพัฒนามาเป็นเวลานาน” นายภณวัชร์นันท์กล่าว

นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเอง ยังอ้างอิงมาตรฐานและกฎระเบียบของประเทศสหรัฐอเมริกามากำหนดเป็นกฎหมายและกฎกระทรวงต่างๆมากมายที่เป็นข้อจำกัดไม่ให้ประชาชนได้เข้าถึงสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของคนไทยซึ่งผ่านการทดสอบรับรองจากต่างประเทศมาแล้วทั่วโลกและผลการทดลองมีประสิทธิภาพการใช้งานเหนือสินค้าเดิมๆที่อยู่ในตลาด ซึ่งกฎระเบียบของประเทศไทยนอกจากจะไม่เป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีของคนไทยที่มีมาตรฐานแต่ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับการรับรองเทคโนโลยีเก่าที่ล้าสมัยด้วยการสร้างกฎระเบียบที่คุ้มครอง ปกป้องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มาจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อการผูกขาดผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์บางพวกกลุ่มเท่านั้น

ดังนั้น ปัญหาแนวทางแก้ปัญหา เมื่อเราป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพ ก็ควรให้ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ร่างและสร้างมาตรฐานจากเทคโนโลยี หรือ จดทะเบียนผลิตภัณฑ์ให้เทคโนโลยี ได้มีคุณภาพ และใช้งานได้จริง และแก้ไขกฎกระทรวงต่างๆ ระบบ เทคโนโลยีใหม่ สามารถนำมาใช้งานช่วยชีวิต ผู้คนในยามเกิดภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการระงับภัยพิบัติทั้งหลายด้วย