กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรการแสดงโขนรามเกียรติ์ มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ
กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ จัดโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
วันนี้ (20 เม.ย. 66) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ ประจำปี 2566 โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
ครั้นเสด็จฯ ถึง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับพระราชอาสน์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ กราบบังคมทูลถวายรายงาน จากนั้นทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพรและการแสดงโขนเยาวชนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ หลังจบการแสดง เสด็จฯ ออกจากโรงละครอักษรา ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับวังสระปทุม
สำหรับ การแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ ประจำปี 2566 จัดโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะโขนเยาวชนจากศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ เปิดม่านการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งยิ่งใหญ่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวถึงการจัดแสดงโขนรามเกียรติ์ ครั้งนี้ว่า
“เราจัดเตรียมการแสดงโขนรามเกียรติ์ ประจำปี 2566 ชุดโมกขศักดิ์ ซึ่งแสดงหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฝึกซ้อมเยาวชนกว่า 300 ชีวิตที่ขึ้นเวทีครั้งนี้ และในปีนี้ ทางสถาบันคึกฤทธิ์ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในทุกจุดของโขนรามเกียรติ์ โดยที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กที่ฝึกรำ ฝึกเล่นโขน
เพราะเราเชื่อว่าการสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมไม่จำเป็นแค่เรียนโขน หรือเล่นดนตรีไทย พวกเขาสามารถเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมผ่านการทำงานได้อีกหลายวิธี หลายรูปแบบ ซึ่งในรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ ของเราได้เด็กมัธยมมาเป็นทีมโซเชียล ทีมกราฟฟิกดีไซน์ ที่มาออกแบบ เสื้อ กระเป๋าของชำร่วยที่ขายในงาน ซึ่งออกมามีสไตล์จนผมเองยังแปลกใจ ขอเพียงเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสใกล้ชิดกับศิลปะวัฒนธรรมของเรา เยาวชนเหล่านี้ก็จะเกิดความผูกพัน และสืบต่อความสวยงามของศิลปะชาติด้วยตัวเขาเอง”
โขนรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ เป็นเรื่องราวของ กุมภกรรณ พญายักษ์ซึ่งเป็นอนุชาของทศกัณฐ์ กุมภกรรณเป็นพญายักษ์ซึ่งครองธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะ ทศกัณฐ์เรียกกุมภกรรณมาปรึกษาเรื่องการศึก กุมภกรรณจึงจำใจรับอาสาออกทำสงคราม โดยจะนำหอกโมกขศักดิ์อันมีฤทธิ์ร้ายกาจออกทำศึก
แต่ด้วยเหตุอาเพศที่ต้องเสียสัจสุจริตหอกนั้นกลับเป็นสนิมทั้งสี่คม กุมภกรรณต้องประกอบพิธีลับหอก ริมแม่น้ำใหญ่ โดยจัดสั่งให้ตั้งโรงพิธีพร้อมทั้งเครื่องบูชาตามตำรา และสั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด
ทางฝ่ายพระราม พิเภกกราบทูลว่า สิ่งที่จะทำลายพิธีได้ คือ ให้หนุมาน และองคตแปลงกายเป็นอีกาที่จิกกินซากหมาเน่า ลอยผ่านเข้าไปใกล้บริเวณพิธี เมื่อกุมภกรรณได้กลิ่นก็จะประกอบพิธีต่อมิได้ ถึงกุมภกรรณเสียพิธีแต่ก็ต้องยกทัพออกรบกับพระลักษณ์
ในการรบครั้งนี้ พระลักษณ์เป็นฝ่ายเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ปักพระอุระจนสลบลง กองทัพของกุมภกรรณจึงกลับเข้ากรุงลงกาอย่างฮึกเฮิม ฝ่ายพิเภกทูลพระรามว่าสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้าหยุดรถพระอาทิตย์ จนตนเองต้องพินาศเพราะอำนาจของแสงอาทิตย์ พระอาทิตย์เห็นเหตุการณ์ประหลาดครั้งนี้จึงชุบหนุมานขึ้นมาแล้วถามถึงสาเหตุ ในที่สุดพระอาทิตย์ก็ช่วยเหลือโดยชักรถหลบเข้าไปในกลีบเมฆ หนุมานไปเก็บสรรพยา และน้ำปัญจมหานทีจากกรุงอโยธยามาถวาย จนพระลักษณ์ฟื้นคืนสติ นำกองทัพกลับคืนสู่พลับพลา
การแสดงโขนชุดนี้ ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ จัดทำฉากใหม่เพื่อให้วิจิตรตระการตากับผู้เข้าชม โดยให้อาจารย์ปาน สุธี ปิวรบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปกรรมในการออกแบบและสร้างฉากละคร สํานักการสังคีต กรมศิลปากร มาออกแบบฉากใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ชมได้อรรถรสให้การชมการแสดงโขนครั้งนี้
ประกอบกับฉากการยกขบวนกองทัพวานร และทัพอสูร ที่ออกแสดงบนเวทีพร้อมกัน จะสร้างปรากฏการณ์ความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก และนอกจากนั้นทางสถาบันคึกฤทธิ์ ยังมีการแสดงประกอบชุดอื่นๆ จากเยาวชนของสถาบันคึกฤทธิ์ อาทิ มโหรีบรรเลงเพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุม เพลงถวายพระพร และรำถวายพระพร
การแสดงโขน รามเกียรติ์ ชุดโมกขศักดิ์ จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 จำนวน 2 รอบ รอบบ่าย เวลา 13.30-15.30 น. และรอบค่ำ เวลา 18.00-21.00 น. (รอบเสด็จ) ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ