5 ชนัก “ยิ่งลักษณ์” ในมือ “ศาล-ป.ป.ช.” โอกาสกลับริบหรี่

5 ชนัก “ยิ่งลักษณ์” ในมือ “ศาล-ป.ป.ช.” โอกาสกลับริบหรี่

สารพัดคดีเหล่านี้ คงปฏิเสธได้ยากว่า โอกาสกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ค่อนข้างริบหรี่ แม้มีความพยายาม “แลนด์สไลด์” จากแผนการของ “โทนี่ วูดซัม”ก็ตาม แต่หากหวังกลับโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงคงปะทุอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้

อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตกเป็นจำเลยอีกครั้ง ในคดีล่าสุดคือ กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต เอื้อประโยชน์ให้สื่อบางสำนักเข้าเป็นคู่สัญญาการจัดงาน Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 วงเงิน 240 ล้านบาทโดยมิชอบ ผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งออกหมายจับนำตัว “ยิ่งลักษณ์” มาดำเนินคดี เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนี

คำสั่งศาลฉบับนี้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายเท่านั้น เพราะหลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบัน “อดีตนารีขี่ม้าขาว” มิได้พำนักอยู่ในไทยอีกต่อไป นับตั้งแต่ถูกศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และถูกหมายจับใบแรกตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

คราวนี้ “ยิ่งลักษณ์” มิได้มีโอกาสเข้ามาต่อสู้ในศาลด้วยตัวเอง เนื่องจากหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาไปเกือบ 5 ปีแล้ว

สำหรับคนตระกูล “ชินวัตร” ตกเป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. และเป็นจำเลยในชั้นศาลหลายคดี บางคดีศาลพิพากษาจำคุก บางคดีศาลยกฟ้อง

หากไล่เรียงเฉพาะ “ยิ่งลักษณ์” นับเป็นคดีที่ 2 ที่ตกอยู่ในสถานะ “จำเลย” ในชั้นศาลฎีกาฯ ห่างจากคดีแรกคือกรณี “จำนำข้าว” ถึง 7 ปีด้วยกัน (ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว เมื่อปี 2558 และศาลมีคำพิพากษาเมื่อปี 2560)

ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มี “คดีอาญา” ที่ถูกกล่าวหา แบ่งได้ดังนี้

คดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 2 คดี

1.คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องเมื่อปี 2558 มีการไต่สวนในชั้นศาลนานราว 2 ปี 4 เดือน โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ทว่ากลายเป็นเรื่อง “คลาสสิก” ทางการเมือง เพราะ “ยิ่งลักษณ์” ไม่มาศาลตามนัด โดยอ้างว่าป่วยเป็นอาการ “น้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะรุนแรง” แต่มีรายงานว่าตอนเช้าโทรศัพท์คอนเฟิร์ม “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ต้องมาฟังคำพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่าจะมา จนกลายเป็นวาทะตำนานว่า “พี่รอหนูหน่อย หนูกำลังไป” สุดท้ายศาลฎีกาฯออกหมายจับนำตัวมาฟังคำพิพากษา และนัดใหม่ในวันที่ 27 ก.ย. 2560 ก่อนตัดสินจำคุก 5 ปี และออกหมายจับอีกใบเพื่อนำตัวมาลงโทษ

2.คดีปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์สื่อจัดโรดโชว์ วงเงิน 240 ล้านบาท

กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการจัดงานประชาสัมพันธ์ “โรดโชว์ 2022” โดยมีสื่อบางสำนักได้รับการว่าจ้างด้วยวงเงิน 240 ล้านบาท โดยการจัดงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายตามร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถทำโครงการเกิดขึ้นได้จริง และการจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการเหล่านี้จึงไร้ประโยชน์ไปโดยปริยาย กระทั่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” และคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสื่อ 2 สำนัก ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ทว่าฝ่ายอัยการเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์จึงตีกลับมา ทำให้ ป.ป.ช.ฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 พร้อมกับออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง

คดีในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. จำนวน 13 คดี แบ่งเป็น

คดีที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน หรือระหว่างส่งไปยัง อสส. รวม 3 คดี ได้แก่

1.คดีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สัญญาที่ 5-8 หรือที่เรียกกันว่า คดีข้าวจีทูจีล็อต 2

โดยล็อตนี้ นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ยังมีชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ แกนนำกลุ่ม “วังน้ำยม” ต้นสังกัดการเมืองของ “บุญทรง” รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันคดี “งวด” เข้าไปทุกขณะแล้ว

2.คดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” โดยมิชอบ

คดีนี้เรียกได้ว่าเป็น “ตำนาน” เกิดขึ้นเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการเปลี่ยนตัวนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในศาลปกครอง และสุดท้ายถูกนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” นำไปสู่คำวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ต้องพ้นจากเก้าอี้ และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน ป.ป.ช.ชี้มูล “ยิ่งลักษณ์” ไปแล้วผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยส่งสำนวนไปยัง อสส.พิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช.พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์อยู่

3.คดีถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และกรณีปกปิดไม่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี โดยมีการตรวจสอบ “ทรัพย์สินเชิงลึก” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันมีมีการร้องเรียนว่า การแจ้งทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีแจ้งมีนาฬิกาหรู 2.5 ล้านบาท จำนวน 1 เรือน ซึ่งปรากฏในคำพิพากษาคดี “ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท” ตามถ้อยคำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่มีในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนด้วยเช่นกัน ปัจจุบันทั้ง 2 เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน

คดีที่ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหารวม 10 คดี ได้แก่

1.คดีกล่าวหาว่า “ยิ่งลักษณ์-ครม.” รวม 34 ราย อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุม

คดีนี้คณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวม 34 ราย อนุมัติและจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 วงเงิน 2 พันล้านบาท โดยถูกกล่าวหาว่าไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.เห็นว่า ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

2.คดีปล่อยปละละเลยให้ “จารุพงศ์” และแกนนำ นปช.ปราศรัยแบ่งแยกประเทศ

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2557 ในเวที “นปช.ลั่นกลองรบ” ที่ จ.นครราชสีมา โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) เดินทางมาปราศรัย พร้อมกับบรรดาแกนนำ นปช.ที่เป็น ส.ส.หลายคน โดยตอนหนึ่งมีการปราศรัยสร้างความแตกแยก และพูดถึงการแบ่งแยกประเทศ อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเฉพาะนายจารุพงศ์รายเดียว เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้ถูกกล่าวหารายอื่น เป็นเรื่องนอกหน้าที่ราชการ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

3.คดีปล่อยให้สถานี NBT ถ่ายทอดสดมวยไทยวอริเออร์ส เจตนาแพร่ภาพ “ทักษิณ”

กรณีนี้สถานีโทรทัศน์วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT เผยแพร่ภาพรายการ “มวยไทยวอริเออร์ส” ซึ่งจัดขึ้นที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยมีการแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของนายทักษิณ โดยกล่าวหาว่าเนื้อหาบางส่วนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

4.คดีอนุมัติงบกลาง 120 ล้านบาทช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง

เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ ครม.ยิ่งลักษณ์ อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยา 2 พันล้านบาทแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง โดยท้ายที่สุด ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

5.คดีกล่าวหาออก พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท

กรณีนี้เกิดขึ้นช่วง ครม.ยิ่งลักษณ์ เห็นชอบออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ วงเงิน 3.5 แสนล้านล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมา ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหานี้ตกไปเช่นกัน

6.คดีกล่าวหาว่าบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

มีการกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์” พร้อมด้วย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และมีนักการเมืองดัง พร้อมด้วยอดีตผู้ว่าฯ กทม.ด้วย อ้างว่าบริหารจัดการน้ำผิดพลาดทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” ครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา แต่ ป.ป.ช. วินิจฉัยว่า กรณีนี้มีสาเหตุมาจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

7.คดีเพิกเฉยไม่ไต่สวนอดีต รมว.กลาโหม แทรกแซงแต่งตั้งปลัด กห.

เกิดขึ้นในช่วงแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน จากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยกล่าวหาว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไปแทรกแซงการแต่งตั้ง โดย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำการตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

8.คดีให้สำนักงาน กศน.จัดทำป้ายพีอาร์รัฐบาล

มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้ให้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน

9.คดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ในการเปิดเผยราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเห็นว่า ข้อมูลกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

10.คดีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ช่วงม็อบ กปปส.

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์ ออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2556 วันที่ 9 ต.ค. 2556 และวันที่ 18 ต.ค. 2556 ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2553 เพื่อควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงม็อบ กปปส. โดย ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับคณะรัฐมนตรีรวม 12 ราย ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ด้วยสารพัดคดีเหล่านี้ คงปฏิเสธได้ยากว่า โอกาสกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์”ค่อนข้างริบหรี่ แม้จะมีความพยายาม “แลนด์สไลด์” จากแผนการของพี่ชายอย่าง “โทนี่ วูดซัม”ก็ตาม 

แต่หากหวังกลับโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงคงปะทุอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน