ผ่าแผน“ประวิตร”นายกฯรักษาการ เครือข่ายวาง2เกมบีบ“ประยุทธ์”พ้นเก้าอี้
ผ่าแผน “ประวิตร”นายกฯรักษาการ เครือข่ายหนุนวาง 2 เกม บีบ “ประยุทธ์” พ้นนายกฯ เช็คเสียง พปชร.-250 ส.ว. “ขั้วประวิตร” ได้เปรียบ
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยกระแสข่าว “นายกฯสำรอง” เนื่องจากสถานะ "นายกรัฐมนตรี" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค.2565 อยู่บนความไม่แน่นอน มีเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เงื่อนไขแรก หลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 22 พ.ค. “ขั้วฝ่ายค้าน” จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบลงมติ ตามมาตรา 151 ช่วงกลางเดือน มิ.ย. โดยคาดว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงปลายเดือน มิ.ย. - ต้นเดือน ก.ค. เพราะต้องรอให้ร่างกฎหมายหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จสิ้นก่อน
เมื่อเข้าสู่ “แดนประหาร” ทางการเมือง ชะตาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ฝากเอาไว้ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งคุมเสียง ส.ส.พปชร. ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) รวมทั้ง ส.ส.พรรคเล็ก
แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะยืนยันผ่านคำพูดหลายครั้งว่า จะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ภาษากายทางการเมืองของ “พล.อ.ประวิตร” ไม่ปฏิเสธ ที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
เงื่อนไขที่สอง ปมรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้
กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งจะครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่ง “ขั้วฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณากรณีดังกล่าวในวันที่ 23 ส.ค. ทันที ซึ่งต้องลุ้นว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร
ทั้ง 2 เงื่อนไขคือปมเสี่ยงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่วัน ว. เวลา น. ประชิดเข้ามาใกล้ทุกขณะ ทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับตามองว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรือไม่
ไล่ไทม์ไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบความเคลื่อนไหว และร่องรอยการเมือง ที่เริ่มส่งสัญญาณเตรียมหา “นายกฯคนใหม่”
ไทม์ไลน์เกมล้ม “ประยุทธ์”
วันที่ 25 เม.ย. “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมเปิดดีล 30 ส.ส. ขั้วรัฐบาล ช่วยโหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
วันที่ 26 เม.ย. พล.อ.ประวิตรตอบคำถามสื่อมวลชน ซึ่งถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ทางพรรคพลังประชารัฐ จะเปิดตัวด้วยหรือไม่ว่า “ก็ พล.อ.ประยุทธ์ไง บอกตั้งนานแล้วไม่ต้องถามอีก แต่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ชื่อเดียวหรือไม่ ผมยังไม่รู้”
สื่อมวลชนถามอีกว่า ปมพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี โดย พล.อ.ประวิตรตอบว่า “อาจจะมีชื่อสำรอง และไม่รู้ว่าจะต้องเป็นชื่อพลเรือนหรือไม่”
คำพูดของ พล.อ.ประวิตรสวนทางกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐหลายราย อาทิ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดีอีเอส ที่ออกมาตอบปฏิเสธทันทีเช่นกัน
แต่เมื่อคำว่า “อาจจะมีชื่อสำรอง” หลุดออกจากปากผู้จัดการรัฐบาลที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร ส่งผลให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เพราะถูกถอดรหัสว่า “นายกฯสำรอง” ในนิยามของพล.อ.ประวิตรคือใคร และจะมีไทม์มิ่งใดในการเคลื่อนเกม
“เศรษฐกิจไทย”จุดพลุนายกฯคนนอก
ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย แท็กทีมสนับสนุน พล.อ.ประวิตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยิ่งโหมกระแสการเมืองให้ร้อนขึ้นกว่าเดิม
วันที่ 30 เม.ย. “รงค์ บุญสวยขวัญ” ส.ส.นครศรีธรรมราช กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ตอบสวนว่า “การเปิดชื่อนายกฯ คนนอก เป็นการโยนหิน ลักษณะนี้เป็นแค่กลยุทธ์ทางการเมือง ปลุกกระแสเพื่อให้คนได้รู้จัก ได้มีตัวตน”
ขณะที่ “พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ออกมายืนยันว่า พล.อ.ประวิตรสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อสานต่อโครงการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ขอให้ทุกกลุ่มลดอุณหภูมิทางการเมืองลง และหันมาร่วมกันสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล
เมื่อดูจากความเคลื่อนไหวของ “พล.อ.ประวิตร-พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเศรษฐกิจไทย” ซึ่งอยู่ภายใต้การคอนโทรลของ พล.อ.ประวิตร แม้จะเป็นการเดินคนละคีย์ แต่เป้าหมายที่วางเอาไว้อาจอยู่จุดเดียวกัน
เปิดสูตรโหวตนายกฯคนนอก
"เครือข่าย พล.อ.ประวิตร” ที่ฝังตัว แฝงตัวอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ - พรรคเศรษฐกิจ - 250 ส.ว. เตรียมพร้อมสนับสนุน “นาย” เมื่อสถานการณ์สุกงอม และมีความพร้อมมากที่สุด
ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากปมโหวตศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือปมดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ทุกองคาพยพของ พล.อ.ประวิตรได้เตรียมแผน 1 แผน 2 เอาไว้หมดแล้ว
เส้นทางของ พล.อ.ประวิตร จำเป็นต้องเข้ามาด้วยโควตา “คนนอกบัญชีนายกฯ” โดยจะถูกเสนอชื่อต่อรัฐสภา กุญแจดอกแรกมีโอกาสผ่านฉลุย เพราะการเว้นไม่ใช้ มาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ (นายกรัฐมนตรีในบัญชี) กำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา ส.ส. 484 เสียง ส.ว. 250 เสียง รวม 726 เสียง
เมื่อรวมเสียงของ ส.ส.ขั้วรัฐบาล 238 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง จะได้เสียงสนับสนุนรวม 488 เสียง การเปิดทางให้มี “นายกฯนอกบัญชี” จึงไม่น่าจะมีปัญหา หากพรรคร่วมรัฐบาลเสียงไม่แตกแถว
วัดใจพรรคร่วมโหวตนายกฯคนนอก
แต่อย่าลืมว่าหาก “ขั้ว พล.อ.ประวิตร” ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ สำเร็จ ก็ไม่การันตีว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จะเอาด้วยกับการกระทำของขั้ว พล.อ.ประวิตร
มิหนำซ้ำเสียง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 95 เสียง ไม่ใช่มีแต่ขั้วพล.อ.ประวิตร แต่ยังมีกลุ่ม-ก๊วนที่สนับสนุน หรืออยู่ร่วม “ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์” เช่นกัน
“ประวิตร”คุมเสียงพปชร.-ศท.-ส.ว.
แม้ตัวเลขไม่สามารถแบ่งได้ชัดเจนว่า “ขั้ว พล.อ.ประวิตร” กับ “ขั้วพล.อ.ประยุทธ์” มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนอยู่เท่าไร เนื่องจาก ส.ส.บางคน-บางกลุ่ม เล่นเกมสองหน้าจนทับซ้อนกันอยู่บ้าง แต่สามารถจำแนกแบ่ง ส.ส.ได้ดังนี้ ขั้วพล.อ.ประวิตร มี 45-50 คน ขั้วพล.อ.ประยุทธ์ มี 35-40 คน
ฉะนั้น ความเป็นเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่พอสมควร แตกต่างจาก 18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่พล.อ.ประวิตรสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้สะดวกโยธิน
ไม่ต่างจากเสียงของ 250 ส.ว. ก็ยังแบ่งออกเป็นสองขั้ว ขั้วพล.อ.ประวิตรอาจมีมากกว่า 125 เสียง ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์อาจมีน้อยกว่า 125 เสียง เนื่องจากเสียงที่จะสามารถสวิงไปมาได้ มีอยู่ 20-30 เสียง
ดังนั้นขั้นตอน “นายกฯคนนอก-นายกฯนอกบัญชี” แม้จะดูเหมือนง่าย แต่วิธีการที่ซับซ้อน อาจทำให้การควบคุมเสียงโหวตค่อนข้างยากลำบาก แถมปัจจัยไม่คาดฝันซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย อาจจะแทรกซ้อนเข้ามาได้ตลอดเวลา
แผนสำรองดันนายกฯรักษาการ
เมื่อเกม “นายกฯคนนอก” เข็นยาก แต่ “ลูกหาบ” ของพล.อ.ประวิตรยังไม่หมดความพยายาม ล่าสุดมีการวางเกม “นายกฯรักษาการ” เอาไว้เป็นแผนสำรอง เพื่อผลักดันพล.อ.ประวิตรไปถึงฝั่งฝันให้ได้
เกมแรก พยายามทุ่มทุกสรรพกำลังหวังล้ม พล.อ.ประยุทธ์คาสภาฯ ด้วยการโหวตไม่ไว้วางใจการทำงาน ซึ่งจะบีบให้มีเพียง 2 ทางคือ เลือก 1.ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.ยุบสภา แต่หากจะให้ พล.อ.ประวิตรนั่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ก็มีทางเลือกให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกเท่านั้น
เกมสอง ต้องหวังพึ่งคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หากวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีได้ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หลุดจากตำแหน่งทันที ซึ่งช็อตนี้ พล.อ.ประวิตรจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีทันทีเช่นกัน
เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรอยู่ในลิสต์ลำดับหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย และมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยมี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ลำดับสอง “อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรี ลำดับสาม “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี ลำดับสี่ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรี ลำดับห้า “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี ลำดับหก
ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร จะขึ้นชั้นรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่า “รัฐสภา” จะประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ทว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องเลือกจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเอาไว้ก่อน ซึ่งในบัญชีไม่มีชื่อของ พล.อ.ประวิตร หากจะปล่อยให้เลือกคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีขณะนี้ ก็เกรงว่าขั้วอำนาจจะสวิงไปเข้าทางเครือข่ายอื่น
โดยนายกรัฐมนตรีในบัญชี ที่ยังมีโอกาสเข้ารับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จากขั้วรัฐบาลมีดังนี้ 1.อนุทิน ชาญวีรกุล พรรคภูมิใจไทย 2.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ 3.กัญจนา ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา
“ขั้วฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” - “ชัยเกษม นิติสิริ” จากพรรคเพื่อไทย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” จากพรรคเสรีรวมไทย
เมื่อชื่อ พล.อ.ประวิตรไม่มีอยู่ในบัญชี และการโหวต “นายกฯคนนอก-นายกฯนอกบัญชี” ค่อนข้างลำบาก โอกาสที่เครือข่าย พล.อ.ประวิตร จะเลือกใช้โมเดล “นายกฯรักษาการ” จึงมีสูง ที่สำคัญยังรักษาการไปจนกว่าจะถึงเวลาเหมาะสมในการเลือกตั้งใหม่
เนื่องจากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ เพราะเสียงของ 250 ส.ว. ที่ พล.อ.ประวิตรคุมอยู่ จะเป็นอุปสรรคในเงื่อนไขการโหวต ขวางทางเอาไว้ไม่ให้ “ตาอยู่” เข้ามาช่วงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปได้
จากนี้ต้องจับตาจังหวะก้าวของ “พล.อ.ประวิตร” และเครือข่ายแบบห้ามกระพริบตา เพราะทุกก้าวย่างเป็นการส่งสัญญาณล้ม “พล.อ.ประยุทธ์” สนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อภารกิจวางตัว-วางคน-วางกำลัง สู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่